กลยุทธ์วันนี้
OPEC Meeting
ตลาดหุ้นวานนี้:
ตลาดหุ้นไทยวานนี้แกว่งปรับฐานลง ระหว่าง 1,335-1,340 จุด โดยกลุ่มธนาคาร และปิโตรเคมีปรับฐานลง อีกทั้งบรรยากาศรอบเอเชียและยุโรป ปรับฐานลง เพื่อรอดูผลการประชุมกลุ่มโอเปกในวันที่ 1 มี.ค. ทำให้ SET INDEX ปิดในแดนลบ 10.70 จุด มาอยู่ที่ 1,332.37 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายเพียง 35,292 ล้านบาท
เม็ดเงินทุนต่างชาติ แม้คงการขายสุทธิตลาดหุ้นเป็นวันที่ 2 แต่ก็เพียง 135 ล้านบาท แต่คงการ Long สุทธิใน SET50 Index Futures เป็นวันที่ 4 อีก 2,709 สัญญา และซื้อสุทธิตราสารหนี้เป็นวันที่ 3 อีก 5,822 ล้านบาท
ปัจจัยสำคัญวันนี้
- ติดตามการประชุมโอเปกวันนี้ เราคาดว่าผลจะออกมาในการคงเพดานการผลิตตามที่ตลาดคาด
- ราคาน้ำมันดิบ NYMEX ปิดบวก 2.96% dod มาอยู่ที่ US$33.75/barrel
- ธนาคารกลางจีนปรับลด RRR อีก 0.50% มีผลตั้งแต่วันนี้ คาดว่าสภาพคล่องทางการเงินในจีนจะปรับตัวดีขึ้น
- ตลาดหุ้นเกาหลีใต้วันนี้ปิดทำการ เนื่องในวันอิสรภาพ
- ติดตามการประชุม ครม.วันนี้ อาจมีการพิจารณาโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มเติม หลังครม.ไม่มีการพิจารณาโครงการมาระยะหนึ่งแล้ว
มุมมองต่อตลาด
เราคงมุมมองต่อการลงทุนเป็น “กลาง” เป็นวันที่ 2 แม้ว่า SET INDEX จะปรับฐานลงกว่า 10 จุดวานนี้ แต่หากพิจารณาจากท่าทีของนักลงทุนทั้ง 4 กลุ่มกลับเป็นกลางเช่นกัน ไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่เน้นการซื้อสุทธิหรือขายสุทธิหนาแน่น สะท้อนความเชื่อมั่นต่อทิศทางการลงทุนไม่ชัดเจน
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเกิดการเก็งกำไรต่อโอกาสที่กลุ่มโอเปกจะตกลงร่วมกันในการกำหนดเพดานการผลิตน้ำมันในวันนี้ สอดคล้องกับการตกลงร่วมระหว่างซาอุฯ และ รัสเซียก่อนหน้านี้ อีกทั้งการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางจีน คาดว่าจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ของการใช้น้ำมันดิบ ลดแรงกดดันจากภาวะ Oversupply กลายเป็นปัจจัยที่จะ Support ตลาดหุ้นไทยในวันนี้ กลุ่มน้ำมัน / โรงกลั่น/ ปิโตรเคมี มีแนวโน้มจะเกิดแรงเก็งกำไรมากขึ้น รวมถึงโอกาสที่ผลการดำเนินงานใน 1Q59 จะฟื้นตัว qoq จากสต็อกน้ำมันดิบอาจกลับมาเป็นกำไร จากขาดทุนใน 4Q58
เราประเมินกรอบแกว่งของ SET INDEX ระหว่าง 1,325-1,340 จุด เราให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวมากกว่าการปรับฐานลง เมื่อบรรยากาศการลงทุนในเอเชียวันนี้มีโอกาสตอบรับเชิงบวกต่อการปรับลด RRR ของธนาคารกลางจีนในเย็นวานนี้ รวมถึงการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
กลยุทธ์การลงทุน
เราแนะนำให้ “นักลงทุนยังคงทยอยเก็งกำไรหุ้นรายตัว แบบจำกัดวงเงิน เมื่อ SET INDEX ซึมตัวลง เพราะเรายังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวกลับไปทดสอบ 1,350 จุดก่อนการประชุมเฟดในวันที่ 16 มี.ค.”
Accumulative Buy: KTB
Speculative Buy: IRPC
Stock Pick of the Day
กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ แนะนำ “เก็งกำไร” ได้แก่
1. IRPC : ราคาปิด 4.38 บาท ราคาเหมาะสม 4.80 บาท
a) MBKET คาดว่าหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีจะมีทิศทางฟื้นตัวในวันนี้ จากการไต่ระดับขึ้นของราคาน้ำมันดิบ NYMEX และ BRENT ที่ปรับตัวขึ้น +3% เมื่อคืนนี้ เพื่อเก็งกำไรผลการประชุมระหว่าง OPEC และรัสเซียในวันนี้
b) แนวโน้มกำไรสุทธิ 1Q59 คาดว่าจะขยายตัว qoq จากค่าการกลั่นที่ทรงตัวในระดับสูง โดย QTD อยู่ที่ US$8.24 เพิ่มขึ้น +2.8% qoq และคาดว่าจะไม่มีผลขาดทุนจาก Stock loss เป็นจำนวนมากเหมือนใน 4Q58 ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันดิบดูไบสิ้นสุดวานนี้อยู่ที่ US$33.27/barrel เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปี 2558 ที่ US$32.37/barrel
c) คาดกำไรปกติปี 2559 เติบโต +37% yoy เป็น 8,586 ล้านบาท จากแรงหนุนของโครงการฟินิกซ์ ขณะที่ภาวะตึงตัวของธุรกิจโรงกลั่นจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในภูมิภาคเป็นจำนวนมากช่วง 2Q59 จะเป็นบวกให้ค่าการกลั่นทรงตัวในระดับสูง
d) Valuation น่าสนใจ ซื้อขายระดับ PER2559 ที่ 9.9 เท่า และให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลในเกณฑ์ดีราวปีละ 5%
และ “สะสม” ได้แก่
2. KTB : ราคาปิด 17.70 บาท ราคาเหมาะสม 21.00 บาท
a) MBKET คาดว่าหุ้นกลุ่มธนาคารจะ Outperform ตลาด จากกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นเอเซียเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่ม TIPs ที่ให้ผลตอบแทน Underperform ประเทศในกลุ่ม North Asia ในปีที่ผ่านมา
a) KTB จะประกาศเงินปันผลปี 2558 (จ่ายปีละ 1 ครั้ง) ในช่วงต้นเดือน มี.ค. โดยคาดการณ์เงินปันผลหุ้นละ 0.80 บาท คิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล 4.4%
b) และมีโอกาสที่เงินปันผลจะออกมาดีกว่าคาดการณ์ของตลาด เนื่องจากกำไรสุทธิปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรอง แต่หากพิจาณากำไรก่อนตั้งสำรองเติบโตถึง +20% yoy จึงมีโอกาสที่จะจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.90 – 1.00 บาทได้เช่นกัน
b) Valuation ถูกที่สุดในหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ โดยซื้อขาย PER2559 ที่ 7.5x เทียบกับ BBL 8.1x. SCB 9.7x, KBANK 9.7x, BAY 10.2x
Fund Flow Analysis
Fund Flow in Emerging Markets
ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 มากถึง US$452 ล้าน จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ US$264 ล้าน
Foreign Investors Action วานนี้
คาดต่างชาติทำ Arbitrage ระหว่างตลาด Spot และตลาด Futures ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2
นักลงทุนต่างชาติคงการขายสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 2 เพียง 135 ล้านบาท รวม 2 วันทำการ ขายสุทธิเพียง 1,508 ล้านบาท แม้จะทำให้ YTD นักลงทุนกลุ่มนี้ขายสุทธิสะสมขยับขึ้นเป็น 7,475 ล้านบาทก็ตาม
แต่ SET50 Index Futures นักลงทุนกลุ่มนี้คงการ Long สุทธิเป็นวันที่ 4 อีก 2,709 สัญญา รวม 4 วันทำการ Long สุทธิ 13,590 สัญญา น่าจะเป็นการเปิดสถานะ Long ต่อเนื่อง ภายใต้ SET50 Index ยังคงปิดยืนเหนือ 850 จุด ต่อเนื่อง และ S50H16 ปิดต่ำกว่า SET50 Index กว้างขึ้นเป็น 7.42 จุด จากวันก่อนหน้า Discount เท่ากับ 5.11 จุด ทำให้ QTD นักลงทุนกลุ่มนี้ Long สุทธิยังคงทะลุ 100,000 สัญญา เป็น 119,390 สัญญา
และตลาดตราสารหนี้ นักลงทุนกลุ่มนี้คงการซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ชะลอตัวลงมาเหลือ 5,822 ล้านบาท รวม 3 วันทำการ ซื้อสุทธิ 25,910 ล้านบาท เทียบกับ 5 วันทำการก่อนหน้าขายสุทธิ 39,768 ล้านบาท เมื่อค่าเงินบาทแกว่งกรอบแคบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาพันธบัตรไทยแกว่งในกรอบแคบเป็นวันที่ 2 ผ่านผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้น 0.23bps จากวันก่อนหน้าลดลงเพียง 0.83bps ปิดที่ 2.127%
Short-Selling วานนี้
ลดลงเหลือ 846 ล้านบาท จากวันก่อนหน้า 946 ล้านบาท
NVDR Movement
NVDR กลับมาขายสุทธิเป็นวันแรกในรอบ 11 วันทำการ แต่เป็นเพียงการปรับน้ำหนักการลงทุนระหว่างกลุ่มหลักเท่านั้น
การซื้อขายผ่าน NVDR ขายสุทธิเพียง 7 ล้านบาท จาก 10 วันทำการก่อนหน้าซื้อสุทธิ 10,595 ล้านบาท โดยเป็นการปรับน้ำหนักการลงทุนระหว่างกลุ่มหลักเป็นสำคัญ สรุปภาพรวมดังต่อไปนี้
1. กลุ่มโรงพยาบาล กลับถูกเลือกลงทุนสูงสุด 169 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 268 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มพลังงาน ซื้อสุทธิ 125 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 312 ล้านบาท กลุ่มธนาคารซื้อสุทธิ 112 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 639 ล้านบาท
2. ส่วนกลุ่ม ICT ถูกขายสุทธิสูงสุด มากถึง 333 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 203 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มอาหารขายสุทธิ 163 ล้านบาท และกลุ่มขนส่ง ขายสุทธิ 99 ล้านบาท
ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ – การเงินรายภูมิภาค
สหรัฐอเมริกา
ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาเป็นกลางถึงบวก
ดัชนี PMI ชิคาโก เดือนก.พ. เท่ากับ 47.6 จุด ต่ำกว่า Bloomberg consensus คาด 52.9 จุด และเดือนก่อนหน้าที่ 55.6 จุด ภาคการผลิตและบริการส่งสัญญาณชะลอตัว ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่กลับสามารถยืนเหนือ 50.0 จุดได้ ดีกว่าเดือนม.ค.
ยอดขายบ้านรอปิดการขายเดือนม.ค.ลดลง 2.5% mom สวนทางกับที่ Bloomberg consensus คาด +0.50% mom และเดือนก่อนหน้าที่ 0.9% mom โดยยอดขายบ้านรอปิดการขาย 3 ใน 4 ภาคลดลง
ยุโรป
ไม่มี
จีน
ธนาคารกลางจีนปรับลด RRR มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.: ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะมี RRR เท่ากับ 17% จากเดิม 17.50% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. แต่ก็ยังเป็นระดับที่สูงที่สุดในโลก แต่การปรับลดดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน กลับไปใช้นโยบายการเงินพื้นฐาน ทั้งนี้ธนาคารกลางจีนคาดหวังที่จะเห็นเสถียรภาพ และรักษาการเติบโตของสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสร้างนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงิน และเงื่อนไขทางการเงินเพื่อการปฎิรูปโครงสร้างทางการเงิน
ดัชนี PMI ภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7: อยู่ที่ 49.0 จุด ในเดือน ก.พ. ต่ำกว่า Bloomberg consensus คาด 49.4 จุด และลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 49.4 จุด โดยระดับที่ต่ำกว่า 50 จุดสะท้อนภาคการผลิตที่หดตัว
เอเชียแปซิฟิก
ส่งออกเกาหลีใต้หดตัวต่อ: ลดลง 12.2% yoy สำหรับเดือน ก.พ. จากเดือนก่อนที่หดตัว 18.8% yoy แต่ดีกว่าที่ Bloomberg Consensus คาดหดตัว 16.6% yoy ด้านการนำเข้าหดตัว 14.6% yoy ทำให้ดุลการค้าเกินดุล US$7.394 พันล้าน
ไทย
PPP เคาะรฟม.เดินหน้ารถไฟฟ้าสีชมพู – เหลือง: ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ได้เห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ รฟม. ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) วงเงินลงทุน 56,691 ล้านบาท และสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) วงเงินลงทุน 54,644 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของกรุงเทพฯ ชุดแรกที่ผ่านระบบพีพีพี ฟาสต์แทร็ก ทั้งนี้ รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายจะเป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล หรือระบบรางเดี่ยวยกระดับ โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และให้ภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่าระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ
รวมทั้งบริหารการเดินรถและค่าซ่อมบำรุง โดยให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นเวลา 30 ปี และเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านจำนวนผู้โดยสาร ภายในเดือน มี.ค.นี้ จะนำรายละเอียดทั้งหมดเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา รวมทั้งจะจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนและจัดทำร่างสัญญาการประมูล หรือทีโออาร์ ได้ในเดือน พ.ค. ก่อนเปิดประมูลในเดือน มิ.ย.นี้ และสามารถเปิดให้บริการเดินรถได้ในปี 2563
ธปท.รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค.เริ่มชะลอตัวลง: แรงส่งของเศรษฐกิจไทยมีทิศทางแผ่วลง สาเหตุหลักมาจากปัจจัยชั่วคราว ที่เริ่มหมดไป ทั้งการเร่งซื้อรถยนต์และมาตรการเร่งการใช้จ่ายของครัวเรือนในช่วงปลายปี ทำให้การบริโภค ภาคเอกชนชะลอตัวบ้าง ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐชะลอลงหลังเร่งเบิกจ่ายในเดือนก่อน ส่วนการส่งออกตามเศรษฐกิจจีนและอาเซียนที่ชะลอตัว และราคาสินค้าส่งออกที่ลดลงตามราคาน้ำมัน ขณะที่การท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สนับสนุนให้ภาคบริการขยายตัวดี
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจลดลงอยู่ที่ 48.5 จาก 49.9 ในเดือนธ.ค. โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลของต่ออุปสงค์ในประเทศที่อาจจะชะลอตัว หลังการเร่งใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 54.1 เพิ่มขึ้นจาก 52.3 ในการสำรวจเดือนก่อน
ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ม.ค. เกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ที่ US$4.07 พันล้าน ลดลงจากเดือนก่อนที่ US$4.9 พันล้าน แต่มากกว่าที่ตลาดคาดที่ US$2.7 พันล้าน
ข่าวเด่น