กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.พ.59 อยู่ที่ 105.62 หดตัว 0.50% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.58 และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ม.ค.59) ขยายตัว 0.15% มีผลให้ CPI เฉลี่ยช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.59)หดตัว 0.52% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ก.พ.59 อยู่ที่ 106.37 ขยายตัว 0.68% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.58
สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ก.พ.59 อยู่ที่ 114.38 เพิ่มขึ้น 1.26% เมื่อเทียบกับ ก.พ.58 และขยายตัว 0.38% เมื่อเทียบกับ ม.ค.59 ส่วนดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 100.95 หดตัว -1.45% จากเดือน ก.พ.58 แต่ขยายตัว 0.02% จากเดือน ม.ค.59
ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. 2559 ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนม.ค.59(ขยายตัว0.15%) สาเหตุสำคัญมาจากการปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่า ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.59 ส่งผลให้บุหรี่ภายในประเทศราคาสูงขึ้น 5-10 บาทต่อซอง นอกจากนี้ สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์บางรายการปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ผักสด ผลไม้สด ปลาน้ำทะเลสด เนื้อสุกร ทั้งนี้สินค้าที่มีราคาลดลงได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงและค่าโดยสารสาธารณะ จากการปรับลดราคาตั๋วโดยสารรถ บขส.-รถร่วมเอกชนของกรมการขนส่งทางบกกลาง
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และรองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในแต่ละเดือนหลังจากนี้คาดว่ายังอยู่ในอัตราที่ติดลบ แต่จะค่อยๆ ติดลบน้อยลงและน่าจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี2559เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2559 ใหม่มาอยู่ที่ 0-1% จากเดิมที่ 1-2% เนื่องจากมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ อัตราการเติบโตลดลงมาเหลือที่ระดับ 2.8-3.8% จากเดิม 3-4% รวมทั้งปรับลดราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบในปีนี้ลงเหลือ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมที่ 48-54 ดอลลาร์สหรัฐบาร์เรล ในขณะที่ยังคงระดับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ตามเดิมที่ 36-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ข่าวเด่น