วันนี้ (1 มีนาคม 2559) เวลา 16.00 น. ณ บริเวณหน้าตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมาตรการทดแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. .... และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวถือเป็นกฎหมายที่ให้คุณแก่ประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อประมาณ 40 ปี รัฐบาลสมัยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี มีความพยายามนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแต่ไม่ได้รับการพิจารณา กฎหมายดังกล่าวถือเป็นกฎหมายชะลอการลงโทษ โดยจะให้โอกาสผู้กระทำความผิดได้ไกล่เกลี่ยในชั้นสอบสวนของตำรวจ แล้วส่งสำนวนให้อัยการพิจารณา
เมื่อได้ข้อสรุปว่าผู้กระทำความผิดสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และกลับตัวกลับใจได้ก็ไม่ต้องส่งฟ้อง และให้รอดูความพฤติกรรมแทนการรอลงอาญาซึ่งเป็นการลงโทษ แต่ร่างพระบัญญัติดังกล่าวเป็นการชะลอการฟ้องยังไม่มีโทษ ทั้งนี้ ความผิดที่กระทำต้องไม่เป็นความผิดอุกฉกรรจ์ และต้องเป็นความผิดที่กระทำโดยประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และไม่ว่าคดีอะไรก็สามารถชะลอการฟ้องได้
สำหรับ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้ 1. กำหนดบทนิยามคำว่า “การไกล่เกลี่ยคดีอาญา” “คู่กรณี” “ผู้ไกล่เกลี่ย” และ “การชะลอการฟ้อง” 2. กำหนดให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอัยการสูงสุดรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน 3. กำหนดมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา ได้แก่ การไกล่เกลี่ยคดีอาญาและการชะลอการฟ้อง โดยไม่ให้ใช้บังคับกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว แต่คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารและมีเหตุที่อาจใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญาได้ ให้ใช้บังคับได้โดยอนุโลม
ส่วนในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง เมื่อมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา มิให้นำบทบัญญัติในเรื่องการฟ้องและการผัดฟ้องมาใช้บังคับและเมื่อได้มีคำสั่งให้ใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญาแล้ว ให้ถือเป็นเหตุอายุความสะดุดหยุดอยู่ตลอดจนห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐาน คำรับสารภาพ หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี 4. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการไกล่เกลี่ย เช่น กำหนดคดีความผิดที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ กำหนดพฤติการณ์ของการกระทำที่ได้รับการไกล่เกลี่ย กำหนดการไกล่เกลี่ยคดีกรณีที่มีผู้เสียหายหลายคน รวมทั้งกำหนดอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย 5. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ย และกำหนดให้การยื่นคำขอ การรับขึ้นทะเบียน และการตรวจคุณสมบัติการถอนชื่อ ให้กำหนดในกฎกระทรวง
6. กำหนดกระบวนการไกล่เกลี่ยคดีอาญา เช่น กำหนดระยะเวลานัดไกล่เกลี่ยระยะเวลาไกล่เกลี่ยคดีอาญาให้แล้วเสร็จ การจัดหาล่าม กำหนดให้ผู้ไกล่เกลี่ยยุติการไกล่เกลี่ยเมื่อมีเหตุตามที่กำหนด 7. กำหนดเกี่ยวกับผลของการไกล่เกลี่ยคดีอาญา เช่น ผู้เสียหายจะฟ้องคดีมิได้จนกว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะมีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไป การไกล่เกลี่ยไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะทำการสอบสวนต่อไป
8. กำหนดกลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชะลอการฟ้อง เช่น กำหนดมูลเหตุที่พนักงานอัยการอาจพิจารณามีคำสั่งให้ชะลอการฟ้องได้ และในการพิจารณามีคำสั่งให้ชะลอการฟ้อง พนักงานอัยการอาจดำเนินการตามที่กำหนดได้ และ 9. กำหนดเกี่ยวกับผลของคำสั่งชะลอการฟ้อง เช่น ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาในกรณีที่ถูกคุมขังอยู่ ผู้เสียหายจะฟ้องคดีมิได้จนกว่าพนักงานอัยการจะมีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไป กำหนดมูลเหตุที่พนักงานอัยการจะพิจารณาสั่งให้ดำเนินคดีอาญาต่อไป
ข่าวเด่น