ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เกษตรฯ ช่วยเหลือเกษตรกรแก้ปัญหามันสำปะหลังหาตลาดใหม่



กระทรวงเกษตรฯ รุกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรแก้ปัญหามันสำปะหลัง จ.นครราชสีมา ราคาลดลง แสวงหาตลาดใหม่นอกจากจีน ส่งเสริมใช้มันสำปะหลังภายในประเทศ พร้อมหนุนรวมกลุ่มคลัสเตอร์มันโคราช เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

 


นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคารับซื้อหัวมันสำปะหลังสด ปีการผลิต 2558/59 จังหวัดนครราชสีมา ได้เกิดปัญหามันสำปะหลังราคาลดลง และเกษตรกรยังไม่เข้าร่วมโครงการฯ เนื่องจากวงเงินสินเชื่อ 50,000 บาทต่อราย ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในครัวเรือน คณะอนุกรรมการบริหารการผลิตกลุ่มสินค้ามันสำปะหลังและปาล์มน้ำมันจึงได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ เพื่อหาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วยมาตรการ 4 ด้าน คือ
     
1. ชะลอการนำเข้ามันสำปะหลังถึงเดือนเมษายน 2559 โดยให้กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงคมนาคม เข้มงวดกฎระเบียบการนำเข้า ทั้งการขอใบอนุญาตนำเข้า การขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า ปริมาณที่ขอนำเข้า และน้ำหนักในการขนส่งอย่างเคร่งครัด โดยใช้มาตรการสินค้านำเข้าเช่นเดียวกับมาตรฐานสินค้าส่งออก พร้อมทั้งให้กรมวิชาการเกษตรเข้มงวดการตรวจสิ่งเจือปน ใบรับรองพืชและสิ่งต้องห้ามในการนำเข้า
    
 2. ให้กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำมาตรฐานท่อนพันธุ์ แปลงพันธุ์มันสำปะหลังที่ดี และตรวจสอบพันธุ์ที่จำหน่ายในพื้นที่ เพื่อป้องกันการจำหน่ายพันธุ์ผลผลิตแป้งต่ำ อ่อนแอต่อโรคและแมลง
     
3. เร่งประชาสัมพันธ์โครงการบริหารจัดการตลาดมันสำปะหลัง ปี 2558/59 ได้แก่ โครงการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พิจารณาขั้นตอนขอกู้โดยเร็ว ขณะที่โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความรู้เรื่องการให้น้ำหยดแก่เกษตรกร และธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ดำเนินการให้สินเชื่อ
     
4. หาตลาดใหม่ในต่างประเทศ โดยไม่ผูกขาดเฉพาะในตลาดจีน พร้อมทั้งรณรงค์ให้ใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังภายในประเทศมากขึ้น เช่น ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หรือการผลิตเอทานอล
         
 ทั้งนี้ นอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะเข้มงวดการนำเข้าตาม พ.ร.บ.กักพืชแล้ว ได้ดำเนินการรวมกลุ่มคลัสเตอร์มันโคราช หรือ Korat Tapioca Cluster (KOTAC) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตามวิธีการ "สีคิ้วโมเดล” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ผลผลิตและผลตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยบริหารจัดการแบบบูรณาการ ได้แก่ การแนะนำพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ จัดการดินด้วยการไถระเบิดดินดาน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน จัดการน้ำหยด การอารักขาพืช และการใช้เครื่องจักรกลในการผลิต ซึ่งช่วยให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต จากเดิมการผลิตต่อกิโลกรัมคิดเป็น 1.12 - 1.86 บาทต่อกิโลกรัม แต่เมื่อใช้เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง คิดเป็น 0.70 - 1.12 บาทต่อกิโลกรัม สามารถเพิ่มผลผลิตและทำรายได้เพิ่ม 7,800 - 8,600 บาทต่อไร่
         
 "เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำแปลงเรียนรู้และขยายผลไปยังสมาชิกของสหกรณ์การเกษตร 8 อำเภอ มีเกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมาเข้าร่วมโครงการ 666 ราย โดยกรมวิชาการเกษตรได้แนะนำการใช้ปุ๋ยพร้อมทั้งให้สหกรณ์จำหน่ายปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินแก่สมาชิก การแนะนำลักษณะท่อนพันธุ์มันสำปะหลังคุณภาพดี วิธีปลูกมันสำปะหลังเพื่อผลผลิตสูง พร้อมทั้งร่วมกับเกษตรกรทำแปลงเรียนรู้สาธิตเทคโนโลยีการผลิตแปลงใหญ่ในฤดูฝน ปี 2559 ในพื้นที่ 400 ไร่ โดยบูรณาการเทคโนโลยีต่างๆ ได้แก่ พันธุ์ที่เหมาะสม การจัดการดินและปุ๋ย การให้น้ำหยด การอารักขาพืช และการใช้เครื่องจักรกลเกษตร” นายศักดิ์ชัย กล่าว
          
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกษตรกรต้องการเร่งเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง กระทรวงเกษตรฯ ได้แนะนำให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังอายุที่เหมาะสม คือ 12 เดือน หากเร่งเก็บเกี่ยวเร็วกว่านั้นจะทำให้ได้ผลผลิตน้ำหนักลดลง แต่หากชะลอการเก็บเกี่ยวจะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เกษตรกรยังควรเก็บเกี่ยวก่อนฤดูฝน เนื่องจากการเก็บเกี่ยวหลังจากมันสำปะหลังได้น้ำจะทำให้แตกยอด ส่งผลให้ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งลดลงด้วย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 มี.ค. 2559 เวลา : 10:36:16

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:09 am