กลยุทธ์วันนี้ Friday Effect
ตลาดหุ้นวานนี้:
ตลาดหุ้นไทยวานนี้ ขยับขึ้นต่อเนื่อง และทดสอบด่านสำคัญ 1,380 จุด แต่ก็เกิดแรงขายทำกำไรมากขึ้นในบริเวณดังกล่าว แต่ภาพรวมของตลาดหุ้นทั่วเอเชียและยุโรปที่ยังเป็นบวก ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่ม ICT / ธนาคาร / AOT ยังมีแรงเก็งกำไรเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ปิด ณ สิ้นวัน SET INDEX บวกไปอีก 14.02 จุด มาอยู่ที่ 1,379.33 จุด มูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 61,922 ล้านบาท
เม็ดเงินทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 2 หนาแน่นขึ้นเป็น 5,181 ล้านบาท Long สุทธิใน SET50 Index Futures ต่อเป็นวันที่ 2 อีก 6,284 สัญญา แต่ขายตลาดตราสารหนี้ครั้งแรกในรอบ 6 วัน 1,079 ล้านบาท
ปัจจัยสำคัญวันนี้
- YTD นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง 1,166 ล้านบาท
- S50H16 ปิดสูงกว่า SET50 Index หรือเป็น Premium แล้ว ณ ราคาปิดวานนี้
- ผลตอบแทนพันธบัตรไทย อายุ 10 ปียังคงต่ำกว่า 2% วานนี้ปิดที่ 1.964%
- ติดตามตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ คืนนี้
ปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า
- การประชุม ECB วันที่ 10 มี.ค.
- ติดตามการประชุม ครม. วันที่ 8 มี.ค. อาจมีการพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสีเหลือง-ชมพู
- ติดตามการประชุมประจำปีของสภาประชาชน และสภาที่ปรึกษทางการเมืองแห่งชาติของจีน ซึ่งจะมีการพิจารณาถึงเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ในวาระการประชุม
มุมมองต่อตลาด
เราคงมุมมองต่อการลงทุนเป็น “กลาง” เป็นวันที่ 5 แม้ว่า SET INDEX จะยังไต่ระดับขึ้นต่อเนื่องวานนี้ แต่ยังไม่ผ่านด่าน 1,380 จุด อีกทั้งวันนี้เป็นการซื้อขายสุดท้ายของสัปดาห์ คาดว่า SET INDEX จะชะลอความร้อนแรงลง แรงขายเพื่อทำกำไรระยะสัปดาห์มีมากขึ้น อีกทั้ง Fund Flow น่าจะรอดูตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในคืนนี้ เพื่อประเมินโอกาสของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทำให้เราเชื่อว่า SET INDEX อาจยังไม่สามารถปิดผ่าน 1,380 จุดได้ แม้ระหว่างชั่วโมงการซื้อขายจะมีการเก็งกำไรหุ้นหลัก ผลักดันให้ SET INDEX ทะลุแนวดังกล่าวก็ตาม
ประเมินกรอบแกว่งของ SET INDEX วันนี้ระหว่าง 1,370-1,390 จุด พ้อมกับมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่นต่อเนื่องจาก 2 วันทำการก่อนหน้า YTD กลุ่มที่ฟื้นตัวขึ้นมาเด่นสุดได้แก่ ธนาคาร +14.31%, ICT +13.61% และ ขนส่ง +12.39% อาจเป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังต่อแรงขายทำกำไรรอบสั้น
สำหรับปัจจัยสำคัญในสัปดาห์หน้า เราให้น้ำหนักกับการประชุม ECB วันที่ 10 มี.ค. ณ ปัจจุบัน ตลาดคาดว่า ECB จะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงจากปัจจุบัน -0.3% เป็น -0.4% ให้โอกาสถึง 88% ซึ่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกคือ
- หาก ECB ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามคาด เชื่อว่าจะเกิด Sell on Fact จากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลกมาก่อนหน้านี้
- หาก ECB คงนโยบายการเงิน เพื่อรอประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มเติม คาดว่าจะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานลงค่อนข้างแรง
เรายังคงให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐาน ด้าน Valuation ของตลาดหุ้นไทย ณ ปัจจุบัน โดยเฉพาะ PER59 เท่ากับ 14.53x เทียบกับกรอบบน +1SD ของค่าเฉลี่ย 1Yr Forward PER ย้อนหลัง 5 ปี เท่ากับ 15.18x สะท้อนความตึงของ Valuation ค่อนข้างมาก
และเราประเมินว่า ต่างชาติมีโอกาสทยอยปิดสถานะ Long ใน SET50 Index Futures ในช่วงนี้ หลัง S50H16 กลับมาเป็น Premium เทียบกับ SET50 Index วานนี้ปิด Premium เท่ากับ 0.64 จุด ซึ่ง QTD นักลงทุนกลุ่มนี้ Long สุทธิมากถึง 128,393 สัญญา น่าจะทยอยปิดทำการในส่วนนี้ แต่เงินทุนอาจเลือกรอซื้อหุ้นหลักที่มีปันผลเด่นเป็นการลงทุนต่อยอด
กลยุทธ์การลงทุน
เรายังคงแนะนำให้ “นักลงทุนทยอยขายทำกำไรมากยิ่งขึ้น และถือเงินสด เพื่อรอเก็งกำไรรอบใหม่ เมื่อ SET INDEX ปรับฐานลง หรือหากต้องการเข้าเก็งกำไรในช่วงสั้น ควรจำกัดวงเงินมากขึ้น”
Accumulative Buy: KTB
Stock Pick of the Day
กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ แนะนำ “ทยอยสะสม” ได้แก่
1. KTB : ราคาปิด 18.30 บาท ราคาเหมาะสม 21.00 บาท
a) แม้ว่ากลุ่มธนาคาร YTD ฟื้นตัวขึ้นมาถึง 14.31% เทียบกับที่ SET INDEX +7.1% แต่ KTB ฟื้นตัวเพียง 9.58% เท่านั้น ต่ำสุดในหุ้นธนาคารขนาดใหญ่
b) MBKET คาด KTB จะประกาศเงินปันผลปี 2558 (จ่ายปีละ 1 ครั้ง) ในช่วง 1-2 วันนี้ คาดการณ์เงินปันผลหุ้นละ 0.80 บาท คิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล 4.37%
c) และมีโอกาสที่เงินปันผลจะออกมาดีกว่าคาดการณ์ของตลาด เนื่องจากกำไรสุทธิปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรอง แต่หากพิจาณากำไรก่อนตั้งสำรองเติบโตถึง +20% yoy จึงมีโอกาสที่จะจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.90 – 1.00 บาทได้เช่นกัน
d) ประเด็นของผลตอบแทนจากเงินปันผลที่อยู่ในระดับสูง จะช่วยจำกัด downside risk ของราคาหุ้น KTB ในช่วงสั้น ต่อภาวะตลาดหุ้นไทยที่อาจมีการปรับฐานลง
a) Valuation ถูกที่สุดในหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ โดยซื้อขาย PER2559 ที่ 7.63x เทียบกับ BBL 8.18x. SCB 9.93x, KBANK 9.94x, BAY 11.05x
Fund Flow Analysis
Fund Flow in Emerging Markets
ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6 อีก US$678 ล้าน ชะลอตัวจากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ US$781 ล้าน
Foreign Investors Action วานนี้
ต่างชาติซื้อสุทธิทั้ง 3 ตลาดพร้อมกันอีกครั้ง
นักลงทุนต่างชาติคงการซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 2 เร่งขึ้นเป็น 5,181 ล้านบาท รวม 2 วันทำการ ซื้อสุทธิ 8,787 ล้านบาท และทำให้ YTD นักลงทุนกลุ่มนี้กลับมาซื้อสุทธิ 1,166 ล้านบาท อีกครั้ง
ส่วน SET50 Index Futures นักลงทุนกลุ่มนี้คงการ Long สุทธิเป็นวันที่ 2 อีก 6,284 สัญญา รวม 2 วันทำการ Long สุทธิ 14,177 สัญญา คาดว่าจะเป็นการเปิดสถานะ Long เมื่อ SET50 Index ทะลุแนว 880 จุด และทำให้ S50H16 ปิดสูงกว่า SET50 Index เท่ากับ 0.64 จุด จากวันก่อนหน้า Discount เท่ากับ 2.45 จุด โดย QTD นักลงทุนกลุ่มนี้ Long สุทธิยังคงทะลุ 120,000 สัญญา เป็น 128,393 สัญญา
แต่กลับมาขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ เป็นวันแรกในรอบ 6 วันทำการ 1,079 ล้านบาท เทียบกับ 5 วันทำการ ก่อนหน้าซื้อสุทธิ 28,555 ล้านบาท ทำให้ราคาพันธบัตรไทยขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ผ่านผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ลดลงเป็นวันที่ 3 อีก 2.19bps จากวันก่อนหน้าลดลงมากถึง 9.91bps ปิดที่ 1.964%
Short-Selling วานนี้
เร่งขึ้นเป็นวันที่ 2 เท่ากับ 1,402 ล้านบาท จากวันก่อนหน้า 879 ล้านบาท
NVDR Movement
NVDR ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ยังคงเน้นกลุ่มธนาคาร และเป็นลักษณะ Basket orders
การซื้อขายผ่าน NVDR ซื้อสุทธิเร่งตัวขึ้นไปอีก เป็น 4,695 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 3,528 ล้านบาท รวม 3 วันทำการ ซื้อสุทธิ 8,400 ล้านบาท โดยเม็ดเงินยังคงเลือกลงทุนใน 2 กลุ่มหลักของตลาดหุ้นไทยคือ กลุ่มธนาคาร และพลังงาน สรุปภาพการลงทุนโดยรวมได้ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มธนาคารถูกซื้อสุทธิยังคงถูกซื้อสุทธิสูงสุดอีก 1,415 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 1,751 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มพลังงาน ซื้อสุทธิ 972 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 510 ล้านบาท กลุ่ม ICT ซื้อสุทธิ 401 ล้านบาท และกลุ่มค้าปลีก ซื้อสุทธิ 373 ล้านบาท
2. ส่วนกลุ่ม MAI ถูกขายสุทธิสูงสุด 45 ล้านบาท จากวันก่อนหน้า ขายสุทธิ 38 ล้านบาท
ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ – การเงินรายภูมิภาค
สหรัฐอเมริกา
ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาเป็นกลาง
ยอดขอสวัสดิการว่างงานใหม่ เท่ากับ 2.78 แสนตำแหน่ง สูงกว่า Bloomberg consensus คาดเล็กน้อยที่ 2.70 แสนตำแหน่ง และสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.72 แสนตำแหน่ง
ประสิทธิภาพการผลิตที่ไม่ใช่เกษตร 4Q58 หดตัว 2.2% qoq ลดลงน้อยกว่า Bloomberg consensus คาด -3.2% qoq และไตรมาสก่อนหน้าที่ -3.0% qoq
ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือนก.พ. เท่ากับ 49.7 จุด ต่ำกว่า 50.0 จุด เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2556 และตัวเลขเบื้องต้นที่ 53.2 จุด โดยคำสั่งซื้อใหม่ ยังคงเพิ่มขึ้นในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน แม้ว่าแนวโน้มใน 12 เดือนข้างหน้าจะยังเป็นบวกก็ตาม
ยุโรป
ไม่มี
จีน
ที่ปรึกษาเศรษฐกิจจีนคาดนโยบายก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาฯ: ที่ปรึกษาด้านนโยบายของธนาคารกลางจีน มีความเห็นถึงการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน กลายเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุน นำเงินลงทุนในภาคอสังหาฯ ซึ่งจะเป็นตัวทำให้เกิดภาวะเก็งกำไรด้านราคาในเมืองหลัก อย่างปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิน
เอเชียแปซิฟิก
ไม่มี
ไทย
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคชะลอตัวเป็นเดือนที่ 2: มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ก.พ.2559 เท่ากับ 74.7 ลดจาก 75.5 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 5 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันเท่ากับ 54.7 ลดจาก 55.3 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 5 เดือนเช่นเดียวกัน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตเท่ากับ 82.7 ลดจาก 83.5 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 6 เดือน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 63.5 ลดจาก 64.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 69.7 ลดจาก 70.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 90.7 ลดจาก 91.7
โดย บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ประจำวันที่ 4 มี.ค. 2559
ข่าวเด่น