กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “มุมมองร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ในสายตาประชาชน” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,159 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.7 ทราบข้อมูลร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ค่อนข้างน้อย มีเพียงร้อยละ 11.3 ที่ทราบค่อนข้างมาก
เมื่อถามว่ารัฐบาล คสช. ให้สิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 44.9 เห็นว่าให้สิทธิเสรีภาพค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ซึ่งมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับร้อยละ 44.7 ที่เห็นว่าให้สิทธิเสรีภาพค่อนข้างน้อยถึง น้อยที่สุด ที่เหลือร้อยละ 10.4 ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้เมื่อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ร้อยละ 45.8 เห็นว่ามีความเป็นประชาธิปไตย ขณะที่ร้อยละ 36.1 เห็นว่าไม่ค่อยมีความเป็นประชาธิปไตย และร้อยละ 18.1 ไม่แน่ใจ
ส่วนความเห็นในประเด็น รัฐบาลควรแจ้งล่วงหน้าหรือไม่ว่าจะทำอย่างไร หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.8 เห็นว่าควรแจ้งล่วงหน้า เพราะประชาชนจะได้รู้ทางออกว่าเป็นอย่างไร มีเพียงร้อยละ 6.8 ที่เห็นว่าไม่ควรแจ้งล่วงหน้า เพราะจะทำให้ประชาชนไขว้เขวและขาดการไตร่ตรองในร่างฯที่จะลงประชามติ ที่เหลือร้อยละ 4.4 ไม่แน่ใจ
ด้านแนวคิดเกี่ยวกับ การกำหนดหน้าที่เพิ่มเติมให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ทำหน้าที่ดูแลยุทธศาสตร์ชาติ แทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 51.8 ไม่เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 32.5 เห็นด้วย และร้อยละ 15.7 ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้ เมื่อถามว่าหลังจากได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว ควรมี คสช. ปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปหรือไม่ ร้อยละ 48.4 เห็นว่าควรมี คสช. เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับร้อยละ 47.6 ที่เห็นว่า ไม่ควรมี คสช. เพราะควรให้รัฐบาลชุดใหม่ทำงานได้อย่างเต็มที่ ส่วนที่เหลือร้อยละ 4.0 ไม่แน่ใจ
สุดท้ายเมื่อถามว่าหากวันนี้เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.1 ระบุว่า “เห็นชอบ” ขณะที่ร้อยละ 16.0 ระบุว่า “ไม่เห็นชอบ” และมีถึงร้อยละ 27.9 ระบุว่า“งดออกเสียง” ส่วนที่เหลือร้อยละ 11.0 ไม่แน่ใจ
ข่าวเด่น