รองโฆษก วท.เผย เหตุเรือโดยสารระเบิดอาจมาจากแก๊สรั่ว หรือถังแก๊สมีปัญหาไม่สามารถรองรับความดันได้ ชี้การดัดแปลงเครื่องยนต์ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันทำให้เผาไหม้ไม่ดี ใช้ไปนานๆ เสี่ยงอุบัติเหตุ
นายวรวรงค์ รักเรืองเดช รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยถึงกรณีเหตุระเบิด ของเรือโดยสารที่ท่าเรือวัดเทพลีลาเมื่อช่วงเช้าวันที่ 5 มีนาคม ว่า เรือโดยสารดังกล่าว ติดตั้งเชื้อเพลิง 2 ระบบคือดีเซลและแก๊สแอลเอ็นจี ซึ่งจากการสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ในเบื้องต้นคาดว่า น่าจะ เกิดจากการระเบิดของถังแก๊สเชื้อเพลงบริเวณท้ายเรือ โดยมีผู้สังเกตว่ามีควันและกลิ่นแก๊ซท้ายเรือบริเวณที่ตั้งถังแก๊ส ในขณะที่เจ้าของเรือให้ข้อมูลว่า เหตุเกิดจากบริเวณห้องเครื่องยนต์
รองโฆษก วท. กล่าวว่า โดยปกติแก๊สธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี เป็นแก๊สที่มีสัดส่วนของแก๊สมีเทนมากถึง 80-90% ซึ่งเป็นแก๊สที่ไวไฟกว่าแก๊สแอลพีจีหรือแก๊สหุงต้ม สามารถติดไฟได้ก็ต่อเมื่อมีปริมาณแก๊สรั่วไหลในอากาศมากถึงร้อยละ 5-15 ของปริมาตรของอากาศ ซึ่งหากมีประกายไฟในบริเวณที่เกิดเหตุก็อาจจะทำให้เกิดการติดไฟที่ลุกลาม สังเกตเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ได้ อีกสาเหตุหนึ่งของการระเบิดอาจมาจากการที่ถังบรรจุแก๊สธรรมชาติเหลวเกิดปัญหา ทำให้ไม่สามารถรองรับความดันของแก๊สธรรมชาติได้
“โดยปกติการดัดแปลงเครื่องยนต์เชื้อเพลิง 2 ระบบ เครื่องยนต์ดีเซลมีหลักการทำงานที่เริ่มต้นด้วยการฉีดอากาศเข้าไปในกระบอกสูบของเครื่องยนต์ แล้วลูกสูบจะอัดอากาศให้มีปริมาตรลดลงซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนสูงขึ้น จากนั้นจะฉีดละอองน้ำมันดีเซลที่เป็นฝอยเล็กๆ เข้าไป เมื่อละอองน้ำมันสัมผัสกับอากาศที่ร้อนสูงมากกว่า 500 องศา จะติดไฟและก่อให้เกิดการลุกลาม ส่วนเครื่องยนต์ที่ดัดแปลงจะใช้แก๊ซผสมกับอากาศ ซึ่งจะทำให้ลดประมาณการใช้น้ำมันดีเซลลง แต่จะทำให้เกิดการเผาไหม้ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า และทำให้เครื่องยนต์สึกหรอได้เร็วขึ้น ซึ่งหากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้มีการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ” นายวรวรงค์ กล่าว
ข่าวเด่น