ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางแผนจะสืบทอดอำนาจหรือไม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 2 มี.ค. จากประชาชน ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นและความกังวลต่อกระแสข่าวการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกระแสข่าวที่ว่า คสช. วางแผนจะอยู่ในอำนาจต่อหลังการเลือกตั้ง ในกลางปี 2560 พบว่า ประชาชนร้อยละ 14.72 ระบุว่า มีความเชื่อมากต่อกระแสข่าว ร้อยละ 17.20 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 17.76 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 32.88 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 4.72 ระบุอื่นๆ ได้แก่ มีทั้งเชื่อและไม่เชื่อ และ ร้อยละ 12.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ในจำนวนผู้ที่ระบุว่าเชื่อมากและค่อนข้างเชื่อ ให้เหตุผลว่า ดูจากการวางระบบการทำงาน การร่างรัฐธรรมนูญ และ คสช. มีอำนาจอย่างเต็มที่ในการบริหารงาน อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่แน่ไม่นอน มีการแบ่งพรรคแบ่งฝ่าย ยังมีคนเห็นต่างทางการเมือง ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อและไม่เชื่อเลยนั้น ให้เหตุผลว่า มี โรดแมป ของ คสช. กำหนดไว้อยู่แล้ว คสช. เพียงแค่เข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองชั่วขณะ ไม่น่าจะอยู่ถาวร เหตุการณ์บ้านเมืองขณะนี้ก็ผ่อนคลายความตึงเครียดลง เกิดความสงบเรียบร้อย คงเป็นเพียงกระแสข่าว และไม่มีมูลความจริง ส่วนคำตอบอื่นๆ ได้แก่ผู้ที่มีทั้งเชื่อและไม่เชื่อ ระบุเหตุผลว่า ต้องรอดูเหตุการณ์ ซึ่งยังไม่แน่นอน
ด้านความกังวลของประชาชนต่อกระแสข่าวที่ว่า คสช. วางแผนจะอยู่ในอำนาจต่อหลังการเลือกตั้งในกลางปี 2560 พบว่า ประชาชนร้อยละ 8.56 ระบุว่า มีความกังวลมาก ร้อยละ 12.48 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล ร้อยละ 17.68 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล ร้อยละ 57.60 ระบุว่า ไม่กังวลเลย ร้อยละ 1.36 ระบุอื่นๆ ได้แก่ มีทั้งกังวลและไม่กังวล และ ร้อยละ 2.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่ากังวลมากและค่อนข้างกังวล ให้เหตุผลว่า หาก คสช. อยู่ต่อ มีความกังวลในเรื่องของการใช้อำนาจในการบริหารประเทศ และเป็นห่วงในเรื่องของภาพลักษณ์ของประเทศ ความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติ การค้า การลงทุน และเศรษฐกิจในประเทศ ประชาชนบางส่วนเริ่มไม่ไว้วางใจในการทำงานของ คสช. ที่ยังมีจุดอ่อนให้เห็นอยู่
สำหรับผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยกังวลและไม่กังวลเลย ให้เหตุผลว่า หาก คสช. จะอยู่ต่อ ก็รู้สึกผ่อนคลาย เพราะขณะนี้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยดี ไม่วุ่นวาย ต่างเชื่อมั่นในคำพูดและการกระทำของรัฐบาล ว่าจะทำตาม โรดแมป ที่ได้ตั้งเอาไว้ ถึงอย่างไรก็จะต้องมีการจัดตั้งการเลือกตั้งอย่างแน่นอน ส่วนผู้ที่มีทั้งกังวลและไม่กังวล ระบุเหตุผลว่า แม้ว่า คสช. จะอยู่ต่อหรือไม่ ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก
เมื่อถามถึง ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการเลือกตั้งของประเทศไทยในกลางปี 2560 ตาม โรดแมป ของ คสช. พบว่า ร้อยละ 24.40 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นมาก ร้อยละ 26.24 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 20.56 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 13.36 ระบุว่า ไม่มีความเชื่อมั่นเลย ร้อยละ 8.64 ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ มีทั้งเชื่อมั่นและไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 6.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ในจำนวนผู้ที่ระบุว่าเชื่อมั่นมากและค่อนข้างมีความเชื่อมั่น ให้เหตุผลว่า คสช. อยู่มาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว และในขณะนี้บ้านเมืองก็เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และมั่นใจว่า คสช. จะทำตามคำสัญญาที่ได้เคยพูดเอาไว้ ทั้งนี้ประชาชนต้องการเห็นการเลือกตั้งและประชาธิปไตย ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นและไม่มีความเชื่อมั่นเลย ให้เหตุผลว่า บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อยดี และยังไม่มั่นใจในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะผ่านความเห็นชอบหรือผ่านประชามติหรือไม่ คสช. ให้สัมภาษณ์สื่อก็ยังไม่มีความชัดเจน คสช. อาจจะอยู่อีกสักระยะหนึ่ง อย่างเร็วก็น่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 ส่วนผู้ที่มีทั้งเชื่อมั่นและไม่เชื่อมั่น ระบุเหตุผลว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมืองว่ามีความสงบเรียบร้อยดีแล้วหรือยัง
ข่าวเด่น