อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ห่วงวัยรุ่นที่นั่งเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เสี่ยงถูกยุงลายกัดขา และมักไม่ค่อยรู้สึกตัว เนื่องจากใช้สมาธิจดจ่อเกมหน้าจอมากกว่า ชี้ขณะนี้ฤดูกาลเปลี่ยนจากหนาวเข้าสู่ร้อน ยุงลายจะออกดูดเลือดคนพร้อมวางไข่แพร่พันธุ์ ข้อมูลวิชาการพบว่า ยุงลายตัวผู้ ตัวเมีย 1 คู่ สามารถผลิตลูกหลานได้เกือบ 10,000 ตัวในเวลา 100 วัน เร่งให้อสม.สร้างพลังความร่วมมือทุกครัวเรือนกำจัดลูกน้ำยุงทุก 5-7 วัน ต่อเนื่อง เพื่อตัดตอน ลดปริมาณยุงให้ได้มากที่สุด
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศของไทย กำลังเปลี่ยนจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศที่อบอุ่นขึ้นจะมีผลต่อการเพิ่มจำนวนยุงลาย ซึ่งเป็นตัวการแพร่เชื้อไข้เลือดออก ไข้ชิกา และไข้ปวดข้อ ข้อมูลทางวิชาการ ระบุว่าในช่วงอากาศหนาวเย็นและสภาพอากาศแห้ง ยุงลายจะใช้ชีวิตแบบจำศีล เพราะระบบไหลเวียนเลือดของยุงไม่ดี ไม่มีแรงบินออกไปหากินเลือดคนจึงไม่เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ยุงลายจะรีบออกมากินเลือดคนเพื่อบำรุงไข่ และวางไข่ แพร่พันธุ์ จำนวนยุงชุกชุมขึ้น หากมีฝนตกจะยิ่งเพิ่มแหล่งวางไข่ยุงลายมากขึ้น สถานการณ์โรคไข้เลือดออกพ.ศ.2559 กรมควบคุมโรครายงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม –1 มีนาคม 2559 มีผู้ป่วยสะสมจาก 77 จังหวัดรวม 9,639 คน เสียชีวิต 3 ราย หากไม่ช่วยกันทำลายลูกน้ำยุงลาย กำจัดยุงตัวโตเต็มวัย กรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าตลอดปีนี้จะมีผู้ป่วยประมาณ 160,000 -170,000 คน เสียชีวิต ประมาณ 160 ราย
กรม สบส. ได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม. เร่งให้ความรู้ผ่านทางหอกระจายข่าวสารประจำหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจธรรมชาติของยุงลายให้ถ่องแท้ เพิ่มประสิทธิผลในการกำจัดยุงลายให้ดียิ่งขึ้น เน้นหนักตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2559 ซึ่งเป็นช่วง 6 เดือนที่มีโอกาสจะลดจำนวนยุงลายขณะยังเป็นลูกน้ำได้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะจำนวนแหล่งน้ำขังมีน้อยกว่าฤดูฝน พร้อมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนทุกหลังคาเรือน ร่วมกันกำจัดยุงให้ถูกต้อง กำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 5- 7 วันต่อเนื่อง โดยเปลี่ยนน้ำในภาชนะขังน้ำในบ้าน เช่น แจกันไม้ประดับ น้ำในถาดรองไม้กระถาง ปิดฝาโอ่งน้ำไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ หรือเปลี่ยนจากปลูกพืชแช่ในน้ำเป็นปลูกในดินแทนก็ได้ และเก็บกวาดบ้านเรือนให้สะอาด โล่ง เตียน ไม่ให้ยุงลายหลบอาศัยได้
“ความสำเร็จที่เป็นหัวใจของการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก จะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการกำจัดยุงลายพร้อมๆกันทุกครัวเรือน ทุกชุมชน ทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมระดับประเทศ เพราะยุงลายตัวเมีย 1 ตัว จะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว และวางไข่ได้ตลอดชีวิตเฉลี่ยประมาณ 5 ครอก ครอกละ 50-150 ฟอง ห่างกัน 9 วัน หากปล่อยให้ลูกน้ำเติบโตกลายเป็นตัวยุงบินได้ ยุงลายตัวผู้ ตัวเมีย 1 คู่ จะสามารถออกลูกออกหลานได้เกือบ 10,000 ตัวภายในเวลา 100 วัน” นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองกล่าว
ประเด็นที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกันคือการป้องกันยุงตัวเต็มวัยที่บินได้กัดดูดเลือด ยุงลายที่กินเลือดคนในช่วงเวลากลางวันจะเป็นยุงลายตัวเมีย เพื่อใช้โปรตีนในเลือดคนไปบำรุงไข่ พร้อมวางไข่แพร่พันธุ์ต่อ กลุ่มเสี่ยงที่อาจตกเป็นเหยื่อยุงลายคือ วัยรุ่นที่เข้าไปนั่งเล่นเกมคอมพิวเตอร์ในร้านเกมต่างๆในช่วงกลางวัน มีทั้งเล่นเดี่ยวและเล่นเป็นกลุ่ม ซึ่งขณะนี้ร้านเกมมีมากในตัวจังหวัดและอำเภอ และเดือนมีนาคมโรงเรียนต่างๆจะเริ่มปิดเทอม เด็กที่เล่นเกมมักจะนิยมใส่กางเกงขาสั้น เอวยืด และนั่งเก้าอี้ ห้อยขา จึงเสี่ยงถูกยุงลายกัดที่ขา ดูดเลือดจนอิ่ม และมักไม่รู้สึกตัว เนื่องจากสมาธิจดจ่อมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับการเล่นที่เกมหน้าจอมากกว่า ผนวกกับร้านเกมส่วนใหญ่มักจะเป็นห้องแอร์ อยู่ชั้นล่างของอาคาร อาจทำให้ยุงลายบินเข้าไปซุกซ่อนในห้องได้ จึงขอแนะนำให้ทายากันยุงที่ขา จะช่วยป้องกันไม่ให้ยุงกัดได้
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวต่ออีกว่า ขอให้ประชาชนป้องกันยุงกัด โดยนอนในมุ้ง หรือในห้องนอนที่ติดมุ้งลวด ดูแลมุ้งลวดไม่ให้มีช่องโหว่ หากยุงกินเลือดไม่ได้ ก็จะไม่มีอาหารบำรุงไข่ สามารถชะลอการแพร่พันธุ์ยุงลายได้ กรณีที่ถูกยุงกัดแล้ว หากตบยุงให้ตายได้ทันที จะเป็นการดี สามารถลดจำนวนแม่ยุงลาย ไม่ให้วางไข่แพร่พันธุ์ต่อไปได้
อย่างไรก็ดี ในการกำจัดตัวยุงลายที่บินได้ เพื่อช่วยกันลดจำนวนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ยุงลายภายในและรอบๆบ้านเรือน มีวิธีง่ายๆ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประชาชนสามารถทำได้ โดยใช้น้ำยาล้างจานเข้มข้นที่ใช้ทั่วไปในครัวเรือน ผสมกับน้ำเปล่าในอัตรา 1 ต่อ 4 ส่วน เช่นหากใช้น้ำยา 10 ซีซี.ให้ผสมน้ำเปล่า 40 ซีซี. และใช้ไม้คนให้เข้ากัน ห้ามเขย่า เนื่องจากจะทำให้เกิดฟอง จากนั้นให้เทใส่กระบอกฉีดสเปรย์ ฉีดพ่นให้ถูกตัวยุง ละอองฝอยจะทำให้ยุงเปียก บินไม่ได้และตายในที่สุด เนื่องจากละอองฝอยปิดปากรูหายใจที่อยู่ด้านข้างตามลำตัว
ข่าวเด่น