สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนดูสุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย เช้าตรู่ 9 มีนาคม นี้ เตือนคนไทยไม่ควรมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า ควรติดตั้งอุปกรณ์กรองแสง และให้ระมัดระวังการถ่ายภาพดวงอาทิตย์จากเลนส์กล้องดิจิตัล หรือโทรศัพท์มือถือ “ย้ำ” อันตรายถึงขั้นตาบอดได้
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึงข้อควรระวังเกี่ยวกับการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทย ในวันพุธที่ 9 มีนาคม 2559 ตั้งแต่เวลา ประมาณ 06:20 จนถึง 8:40 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ว่า การสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาเป็นการสังเกตดวงอาทิตย์โดยตรง จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ห้ามสังเกตด้วยตาเปล่าเด็ดขาด การจ้องมองดวงอาทิตย์โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน อาจนำอันตรายมาสู่ดวงตาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ วิธีการสังเกตดวงอาทิตย์โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงผ่านอุปกรณ์กรองแสง และการสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม
วิธีที่ 1 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง เป็นวิธีการการสังเกตดวงอาทิตย์ด้วยตาผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสง แว่นดูดวงอาทิตย์ที่ทำจากแผ่นพอลิเมอร์ดำหรือแผ่นกรองแสงไมลาร์ หรืออุปกรณ์ง่ายๆ เช่น กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า
ตัวอย่างอุปกรณ์ช่วยในการสังเกตการณ์
1) กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ หรือกล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสงแบบกระจกเคลือบโลหะ2) แว่นดูดวงอาทิตย์ทำจากแผ่นกรองแสงพอลิเมอร์ดำ 3) แผ่นกรองแสงอะลูมิเนียมไมลาร์ 4) กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะเบอร์ 14 หรือมากกว่า
การใช้อุปกรณ์อื่นๆ ไม่ควรใช้ฟิล์มเอกซเรย์(หากใช้ต้องซ้อนกันสองชั้น) ฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว แผ่นซีดี แว่นกันแดด กระจกรมควัน แผ่นฟิล์มกรองแสงสีดำที่ใช้ติดกระจกรถยนต์แม้จะมีสีดำสนิทก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยต่อสายตา เพราะสิ่งเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพในการกรองแสงไม่เพียงพอ ถึงแม้จะกรองความเข้มแสงออกไปได้ แต่ยังไม่สามารถกรองแสงบางช่วงคลื่นที่เป็นอันตรายต่อสายตาออกไปได้ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงจึงต้องมีอุปกรณ์กรองแสงที่มีคุณภาพสำหรับกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ ขณะทำการสังเกตไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาทีต่อครั้ง และควรหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย
วิธีที่ 2 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม เป็นการดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพหรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อมเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตาและช่วยให้สามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน มีวิธีการดังนี้
1) ใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา 2) การฉายภาพดวงอาทิตย์จากกล้องสองตาและใช้ฉากรับ โดยทั่วไปแล้วกล้องสองตาเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างที่จะหาได้ง่ายที่สุด ซึ่งกล้องสองตาขนาดเล็กทั่วไปเหล่านี้มักมีกำลังขยายประมาณ 7 – 10 เท่า 3) การฉายภาพดวงอาทิตย์จากโซลาร์สโคป (Solarscope) ใช้หลักการรวมแสงให้ไปฉายบนฉากรับภาพ4) ใช้หลักการของกล้องรูเข็ม ประดิษฐ์กล้องรูเข็มด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการเจาะรูเล็กๆ บนวัสดุที่ต้องการ นำไปส่องกับแดด แสงแดดก็จะลอดผ่านรูที่เจาะไว้ตกลงบนฉาก ซึ่งอาจเป็นกระดาษ พื้นโต๊ะ หรือพื้นดิน รูปร่างของรูที่เจาะไม่มีผลต่อภาพบนฉาก แต่จะมีผลต่อความคมชัดและความสว่างของภาพ โดยรูปขนาดเล็กจะให้ภาพที่คมชัดแต่มีความสว่างน้อย รูขนาดใหญ่จะให้ความสว่างมากแต่ความคมชัดของภาพจะลดน้อยลง 5) การสังเกตการณ์ทางอ้อมผ่านแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านต้นไม้ตกบนพื้นหรือกำแพง
ดร.ศรัณย์ กล่าวย้ำให้ประชาชนระมัดระวังการบันทึกภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิตัล หรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะกล้องถ่ายภาพ DSLR ที่ติดเลนส์ที่มีกำลังขยายสูง ห้ามถ่ายภาพดวงอาทิตย์ โดยปราศจากแผ่นกรองแสง และห้ามใช้ตาเล็งจากช่องมองภาพโดยตรงเด็ดขาด!!! เนื่องจากเลนส์ของกล้องต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติในการรวมแสงและความร้อน การมองภาพที่ส่องจากเลนส์ไปยังดวงอาทิตย์โดยตรง ภาพของดวงอาทิตย์ที่ได้จากอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีความสว่างจ้ามาก อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างถาวรทันที และอาจเกิดความเสียหายต่อตัวอุปกรณ์ดังกล่าวได้เช่นกัน
สำหรับประชาชนที่สนใจ สามารถติดตามการถ่ายทอดสดการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทยดังกล่าวจากจุดสังเกตการณ์หลัก 5 แห่ง เชียงใหม่ : ดาดฟ้าศูนย์การค้าเซนทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่/กรุงเทพฯ : สวนเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก ติดกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์/ ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อ.แปลงยาว/ นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี/ สงขลา: ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา และถ่ายทอดสดสุริยุปราคาเต็มดวงจากประเทศอินโดนีเซีย ทาง website ของสถาบันฯ ที่ www.narit.or.th หรือติดตามข้อมูล ได้ที่ www.facebook.com/NARITpage
ข่าวเด่น