ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
นรม.เตรียมประชุมหารือแม่น้ำ 5 สายเร็ว ๆ นี้


 


เมื่อวันที่7 มีนาคม 2559ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมแม่น้ำ 4 สาย ระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
 
 
 
โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหาดไทย นายพรเพชร วิชัยชลชัย ประธาน สนช. ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. เข้าร่วมประชุม

จากนั้น เวลา 16.00 น.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เป็นการประชุมปกติ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ไม่ถือว่าเป็นการประชุมแม่น้ำ 5 สาย เนื่องจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้แจ้งว่าติดประชุมในช่วงบ่ายจึงไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ส่วนวาระการพิจารณาในการประชุมประกอบด้วย 2 เรื่องคือ 1.การติดตามงานที่แต่ละฝ่ายได้ทำไป โดยแต่ละฝ่ายได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่าติดขัดในส่วนใดบ้าง เพราะยังไม่มีการนัดประชุมครบทั้ง 5 สาย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอาจสั่งการให้มีการประชุมแม่น้ำ 5 สายในเร็ว ๆ นี้ และคาดว่าจะเป็นเดือนมีนาคมหรือเมษายนนี้ 

และ 2. เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 เพื่อทำประชามติ ซึ่ง นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ในฐานะประธานวิปรัฐบาลได้ประชุมร่วมกับวิป สนช.และวิป สปท.ก่อนหน้านี้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่ามีปัญหาติดขัดอะไรบ้าง แต่ละฝ่ายก็จะไปแก้ไขในส่วนของตนต่อไป รวมถึงที่ประชุมยังได้หารือกันเรื่องการแจกจ่ายรัฐธรรมนูญอย่างไร ให้ทั่วถึงแทนแนวทางเดิมที่กำหนดไว้ว่าต้องแจกจ่ายให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของทุกครัวเรือน ซึ่งมีข้อเสนอเข้ามามาก แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นฝ่ายนำไปปฏิบัติ และความคืบหน้าในการดำเนินงานของ กกต. ขณะนี้กกต.ได้ทำงานอย่างรอบคอบ โดยเชิญผู้แทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาไปร่วมดำเนินการในส่วนนี้ด้วย อาจจะล่าช้าไปบ้างเล็กน้อย และในที่ประชุมก็ได้หารือในเรื่องการรณรงค์ทำประชามติจะสามารถหาเสียงได้ประมาณไหน แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียดตอนนี้ ซึ่งร่างกฎหมายในเรื่องดังกล่าว กกต. จะต้องส่งกลับมาที่รัฐบาล โดยได้มอบหมายให้นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้

สำหรับกรณีที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.อ้างว่าที่ไม่ร่วมประชุมครั้งนี้เพราะกลัวถูกผูกมัดในการร่างรัฐธรรมนูญและไม่ได้ถูกรับเชิญนั้น รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่ใช่ ตนเข้าใจว่ามีการเชิญ เพียงแต่ไม่มีการออกหนังสืออย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกะทันหันเลยเป็นการเชิญกันผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์แทน และทาง กรธ.ก็ได้ถามตนว่าจะส่งคนมาแทนได้หรือไม่ ตนก็บอกไปว่าคงไม่จำเป็น เพราะส่วนใหญ่เป็นการพูดถึงเรื่องการลงประชามติ ส่วนผลงาน กรธ.ไม่มีอะไรเพราะกำลังร่างรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จร่างสุดท้ายในวันที่ 29 มีนาคมนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมได้มีการหารือคำถามพ่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีการพูดถึงซึ่งเสียเวลากับเรื่องนนี้อยู่นานพอสมควร และมีการยกตัวอย่างประมาณ 20 ข้อ เพื่อทำให้เห็นว่าจะโหวตกันอย่างไรมากกว่า ไม่ใช่ยกขึ้นมาว่าจะเอาหรือไม่เอา เพื่อให้รู้ว่าเวลาโหวตจะทำอย่างไร เกิดร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แต่คำถามพ่วงเกิดไปแย้งจะทำอย่างไร หรือถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แต่คำถามพ่วงออกไปในแนวทางว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่าน แล้วจะทำอย่างไร ซึ่งนายพรเพชร วิชัยชลชัย ได้ชี้แจงในที่ประชุมแล้วพอสมควร เพราะเรื่องนี้สนช.จะเป็นผู้ตั้งคำถามส่วนจะตั้งหรือไม่ตนไม่ทราบ และในที่ประชุมไม่มีใครยกตัวอย่างคำถามพ่วงให้มีรัฐบาลแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม หลายคำถามที่หยิบยกในที่ประชุมก็มีการค้านกันว่าจะถามเช่นนั้นไม่ได้เพราะคำถามที่เปิดปลายว่าเมื่อไหร่ อย่างไรมันไม่ได้ มันต้องถามว่าให้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขบัญญัติไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในที่ประชุมมีการหารือถึงข้อเสนอ ส.ว.สรรหา ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่มี เพราะแต่ละคนที่พูด ก็พูดว่าเป็นความเห็นส่วนตัว และไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ใครจะคุยกันก่อนเริ่มประชุมหรือหลังจากประชุมกันเสร็จแล้วตนไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับเรื่องใดเป็นพิเศษ จะเป็นห่วงอยู่ก็เพียงเรื่องการเร่งรัดการปฏิบัติงาน รวมถึงได้สอบถามความคืบหน้าการทำกฎหมายแต่ละฉบับ เช่นเดียวกับประธาน สปท.ได้แสดงความเป็นห่วงว่ากฎหมายที่ส่งมาดำเนินการไปถึงไหน แต่ส่วนใหญ่พูดกันเรื่องประชามติมากกว่า ซึ่งมีหลายคำถามที่ตนต้องเตรียมตอบต่อสภาฯ ในวันที่ 10 มี.ค.นี้ เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเรื่องการทำประชามติส่งถึงสภาฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกรัฐมนตรี เป็นห่วงเรื่องการใช้งบประมาณทำประชามติหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดเป็นห่วง เพียงแต่มีคำถามว่า ครั้งที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ใช้งบประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาท แต่ครั้งนี้ได้ตัดการแจกจ่ายเล่มรัฐธรรมนูญ 80 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว ทำไมยังแพงอยู่ จึงต้องกลับไปคิดทบทวนอีกทีว่าสุดท้ายแล้วจะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่

 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 มี.ค. 2559 เวลา : 08:22:19

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:18 pm