ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เผยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรมีเงินเหลือหมุนเวียน 5,032.16 ลบ.


 


นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงข้อมูลการจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ว่า กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2517 โดยได้มาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกข้าวตั้งแต่ปี 2517 - 2529 ต่อมายกเลิกการจัดเก็บ แต่ได้มีการบริหารเงินดังกล่าวตลอดมาภายใต้ พ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2517 และในปี 2554 ได้มีการแก้ไขและประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ (ฉบับปัจจุบัน) ซึ่งกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายช่วยเหลือหรือส่งเสริมเกษตรกรในกิจการ 
 

ได้แก่ 1) ส่งเสริมการผลิตผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นหรือผลิตภัณฑ์อาหาร 2) การส่งเสริมการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานคุณภาพของผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นหรือผลิตภัณฑ์อาหาร 3) การรักษาเสถียรภาพของราคาและการจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นหรือผลิตภัณฑ์อาหาร 4) การดำเนินการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อป้องกันและขจัดภัยอันจะเป็นผลเสียหายแก่เกษตรกร    5) การศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาการผลิต การแปรรูป หรือการตลาด ซึ่งผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นหรือผลิตภัณฑ์อาหาร โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการดำเนินการ และ 6) การติดตามผลการดำเนินการตามโครงการที่ได้รับการช่วยเหลือหรือส่งเสริมจากกองทุน

ปัจจุบันกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร มีเงินคงเหลือที่ใช้หมุนเวียน จำนวน 5,032.16 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้คงเหลือ จำนวน 1,268.76 ล้านบาท ประกอบด้วยลูกหนี้ระยะสั้น 0.59 ล้านบาท และลูกหนี้ระยะยาว จำนวน 1,270.11 ล้านบาท ซึ่งในปี 2558 ( ข้อมูล ณ วันที่ 1 ต.ค. 57 – 30 ก.ย. 58 ) ได้รับชำระหนี้คืนจำนวน 115.839 ล้านบาท และมีลูกหนี้คงเหลือ 7 หน่วยงาน 23 โครงการ จำนวน 1,218.021 ล้านบาท และในปี 2559 ได้รับชำระหนี้คืนตั้งแต่เดือนตุลาคม – มกราคม 2559 จำนวน 49.260 ล้านบาท และ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค. 59) มีลูกหนี้ จำนวน 7 หน่วยงาน 24 โครงการ จำนวน 1,168.761 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 2558 มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติของคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรอง ติดตามและประเมินผล โครงการที่ขอใช้เงินกองทุนฯ และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 3 โครงการ เป็นเงิน 1,152.50 ล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ จำนวนเงิน 100 ล้านบาท 2) โครงการสร้างระบบการผลิตและการตลาดเกลือทะเลของสถาบันเกษตรกรด้วยวิธีการยกระดับราคาให้ยั่งยืน จำนวนเงิน 52.50 ล้านบาท และ 3) โครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาด จำนวนเงิน 1,000 ล้านบาท และในปี 2559 มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติของคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรอง ติดตามและประเมินผล โครงการที่ขอใช้เงินกองทุนฯ และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 2 โครงการ เป็นเงิน 128.408 ล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการจัดหาวัตถุดิบปัจจัยการผลิตอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงโคนมไทยมิลค์ จำกัด จังหวัดสระบุรี จำนวน 90 ล้านบาท และ 2) โครงการปรับโครงสร้างการผลิตมันสำปะหลังด้วยระบบน้ำหยด จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 38.408 ล้านบาท

สำหรับการจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร มีผู้ที่สามารถขอใช้เงินกองทุนฯ ได้ 2 ประเภท ได้แก่          1) องค์กรเกษตรกร หมายถึง สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม ชุมนุมสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน องค์กรเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรหรือองค์กรเกษตรกรอื่นที่กฎหมายจัดตั้ง ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติ คือ องค์กรเกษตรกรที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล สามารถยื่นคำขอรับจัดสรรเงินได้โดยตรงโดยต้องผ่านเกณฑ์เงื่อนไข คือ มีการดำเนินกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี มีการตรวจสอบบัญชี และองค์กรเกษตรกรที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีขนาดเล็ก หรือจัดตั้งขึ้นใหม่ เช่น วิสาหกิจชุมชน องค์กรเกษตรกรตามกฎหมายกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือองค์กรเกษตรกรต่าง ๆ ให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแล ยื่นคำขอรับจัดสรรเงินเพื่อนำไปจัดสรรเงินให้แก่องค์กรเกษตรกร 2) หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม จังหวัด และให้หมายความรวมถึงรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้ง สามารถจัดทำโครงการยื่นขอรับจัดสรรเงินได้โดยตรงที่กองบริหารงานกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการจัดเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ยืมกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี
 

LastUpdate 08/03/2559 14:13:55 โดย : Admin

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:47 am