นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึง สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย จากข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 1 มีนาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 9,639 ราย เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า ในปีนี้
ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบอยู่ในกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ อายุ 5-9 ปี และ อายุ 15-24 ปี ตามลำดับ ซึ่งในพื้นที่ภาคกลางพบว่ามีผู้ป่วยสูงสุดจำนวน 4,939 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ถึง 2,379 รายซึ่งมีอัตราป่วยสูงสุดในประเทศไทยคือ 41.8 ต่อประชากรแสนคน จากข้อมูลจะพบว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตชุมชนเมืองยังน่าเป็นห่วง เพราะเป็นพื้นที่ใหญ่และมีจำนวนประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก จึงมีโอกาสที่โรคไข้เลือดออกอาจเกิดการระบาดได้ง่าย ประกอบกับตามบ้านและแหล่งชุมชนต่างๆ จะมีวัสดุหรือภาชนะที่มีน้ำขัง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างดี
จากผลการสำรวจการรับรู้และพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนไทย ประจำปี 2558 โดยกรมควบคุมโรค พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคที่มียุงลายเป็นพาหะซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมป้องกันโรค เช่น ประชาชนมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยร้อยละ 62.9 เข้าใจว่าแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายคือท่อระบายน้ำหรือน้ำเน่าเสีย ซึ่งข้อเท็จจริงคือแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่สำคัญ ได้แก่ แจกัน โอ่งน้ำ ถาดรองกระถางต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งอยู่ในบ้านของเรา และมีประชาชนเพียงร้อยละ 48.3 ที่มีพฤติกรรมสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งล่าสุด จากผลการสำรวจ ดีดีซีโพล ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ยังคงพบว่ากลุ่มตัวอย่างประชาชนที่ตอบแบบสอบถามมีเพียงร้อยละ 32.4 เท่านั้นที่ทำการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านของตนเอง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้เร่งดำเนินการและรณรงค์ตามมาตรการต่างๆ เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย และยุงตัวแก่ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะการดำเนินงานตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ซึ่งหากสามารถทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้
พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมกันป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยเริ่มต้นที่บ้านก่อนเป็นอันดับแรก เน้นทำด้วยวิธีทางกายภาพตามมาตรการ 3เก็บ ป้องกัน 3โรค นั่นเอง ถ้ามีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น