พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การเก็บเกี่ยวข้าวนาปีรอบแรก/รอบสองในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้เก็บเกี่ยวแล้วเรียบร้อยแล้ว มีบางพื้นที่ที่ยังรอเก็บเกี่ยวอีกเพียง 0.61 ล้านไร่ ส่วนข้าวนาปรังที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน ก.พ. - เม.ย. 59 บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 3.05 ล้านไร่ แบ่งเป็นในเขตชลประทาน จำนวน 1.98 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน จำนวน 1.07 ล้านไร่
รวมทั้งในเขต/นอนเขตชลประทานเก็บเกี่ยวแล้ว 0.94 ล้านไร่ เหลืออีก 2.11 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 1.16 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.95 ล้านไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังอาจได้รับความเสียหายจำนวน 4 แสนไร่ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ จะดูแลและระมัดระวังพื้นที่เสี่ยงเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้กระทบกับระบบการบริหารจัดการน้ำในส่วนอื่นๆ
ด้านสถานการณ์น้ำ กรมชลประทานให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพน้ำในพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งยังคงรักษาค่าความเค็มได้ดี ยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการน้ำให้มีน้ำใช้จนถึงเดอืน ก.ค. แน่นอน ส่วนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่มีกระแสข่าวการขาดแคลนน้ำจากกรณีเขื่อนอุบลรัตน์น้ำน้อย กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว สำหรับพื้นที่ภาคเหนือที่มีความกังวลว่าจะกระทบการเล่นน้ำสงกรานต์นั้น ในช่วงกลางเดือนมี.ค. นี้ จะมีการประชุมวางมาตรการบริหารจัดการน้ำ โดยคกก.บริหารจัดการน้ำ ณ กรมการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และกรณีการแย่งน้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา อ.สองพี่น้อง สุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง มีผลกระทบกับชาวไร่อ้อย 16,000 ไร่ แต่เนื่องด้วยระบบการส่งน้ำที่ต้องส่งให้เต็มคลองก่อนจึงจะสามารถปล่อยน้ำไปยังพื้นที่เป้าหมายได้ กรมชลประทานจึงให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการลดสันฝาย เพื่อให้สามารถส่งน้ำไปถึงพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที
ด้านปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งขณะนี้ได้ออกปฏิบัติการครอบคลุมทั่วทั้งประเทศแล้ว โดยมุ่งเน้นในเขตภาคอีสาน บริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนลำตะคอง ผลจากการปฏิบัติการเริ่มมีฝนตกบ้างแล้ว ประกอบกับได้รับรับอิทธิพลลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดความชุ่มชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย ซึ่งเป็นข้อดีที่เอื้ออำนวยต่อการทำฝนหลวง รวมทั้งเน้นปฏิบัติการฝนหลวงในเขตภาคกลาง เน้นบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นการบูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงภัยแล้งให้เป็นไปตามแผนด้วย
นอกจากนี้ เรื่องการจัดการพื้นที่การเกษตรถือว่ามีความสำคัญ และสอดคล้องกับการใช้น้ำอย่างเหมาะสม ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ยังได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ทางการเกษตรการเกษตรทั่วประเทศ เป็นพื้นที่ปลูกพืชจำนวน 130 ล้านไร่ เป็นการเพาะปลูกที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ 67.3% ไม่เหมาะสม 32.6% โดยในพื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมมีจำนวน 42 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 27 ล้านไร่ ยาง 5.8 ล้านไร่ อ้อย 3.7 ล้านไร่
มันสำปะหลัง 2.2 ล้านไร่ ปาล์ม 1.8 ล้านไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.4 ล้านไร่ ซึ่งได้มอบหมายให้นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบ และได้สั่งการให้บูรณาการแผนที่การเพาะปลูก แผนที่ดิน และแผนที่น้ำเข้าด้วยกัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. นี้ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดนำไปขับเคลื่อนในพื้นที่ต่อไป จากนั้นกรมวิชาการเกษตรจะเข้าไปส่งเสริมความรู้ในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำประมงอย่างเหมาะสม รวมทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง จะทำหน้าที่เข้ามาส่งเสริมเกษตรกร ทั้งนี้ในบางพื้นที่อาจจะต้องเปลี่ยนไปทำอุตสาหกรรม หรือการปรับเปลี่ยนการเกษตรด้านอื่นๆ ที่เหมาะสม จะแนะนำส่งเสริมโดยใช้ศูนย์การเรียนรู้ที่มีอยู่ 882 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยการปรับเปลี่ยนดังกล่าว จะเป็นการสมัครใจของเกษตรกรเอง ไม่ใช่การบังคับ
ข่าวเด่น