นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ได้ประสาน 28 จังหวัด แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ20จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี และบึงกาฬ ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 10 – 12 มีนาคม 2559
จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิสูงขึ้น ในช่วงกลางวันมีสภาพอากาศร้อน และมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นในอ่าวไทยเข้าสู่บริเวณดังกล่าว ขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก เกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งมีลักษณะอากาศของฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง
โดยให้จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย และให้ตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายกรณีสถานการณ์รุนแรง ได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที พร้อมให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ติดตามพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
ข่าวเด่น