มาสเตอร์โพลล์(Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง18เดือนกับความพยายามในการสร้างความเข้าใจ-ความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล:กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง18 เดือนกับความพยายามในการสร้างความเข้าใจ-ความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล:กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,074 ตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศรวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 4-9 มีนาคม 2559 ผลการสำรวจ พบว่า
เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบาย และมาตรการสำคัญต่างๆ ของรัฐบาลในห้วงเวลาที่ผ่านมาพบว่า ในด้าน การวางยุทธศาสตร์ชาติระยะสั้น-กลาง-ยาว กำหนดพื้นฐานในการบริหารราชการแผ่นดินให้กับทุกรัฐบาล ให้มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ไม่ทุจริต และใช้จ่ายงบประมาณอย่างถูกต้องนั้น ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 93.4 ระบุรับรู้และเข้าใจในการดำเนินงานดังกล่าวของรัฐบาล ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 6.6 เท่านั้นที่ระบุยังไม่เข้าใจ
ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึง การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานตามโรดแม็ปของรัฐบาล ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบและเข้าใจอย่างทั่วถึงตรงกัน นั้น พบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 93.3 ระบุรับรู้และเข้าใจ ในขณะที่ร้อยละ 6.7 ระบุไม่เข้าใจ
สำหรับ การส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญ เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ การเลือกตั้ง การส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตามกระบวนการ และช่องทางที่ถูกต้องและเหมาะสม พบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 92.8 ระบุรับรู้และเข้าใจ ในขณะที่ร้อยละ 7.2 ระบุยังไม่เข้าใจ
คณะผู้วิจัยได้สอบถามถึง การส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย จากการมีความคิดเห็นที่แตกต่างในเรื่องเหล่านี้ นั้น พบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 91.3 ระบุรับรู้และเข้าใจ ในขณะที่ร้อยละ 8.7 ระบุไม่เข้าใจ ส่วนในประเด็นเกี่ยวกับ การสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนในสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ การป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น การป้องกันการใช้อำนาจทั้ง 2 สภา และแนวทางการปฏิรูปประเทศนั้น พบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 91.2 ระบุรับรู้และเข้าใจ ในขณะที่ร้อยละ 8.8 ระบุยังไม่เข้าใจ
ผลการสำรวจยังพบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 87.7 ระบุรับรู้และเข้าใจใน การดำเนินการเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ที่มีความผิดตามกฎหมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งกฎหมายปกติ/คำสั่ง คสช. /มาตรา 44 ที่ยังคงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 12.3 ระบุยังไม่เข้าใจการเผยแพร่ความรู้ และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้รับรู้รับทราบและเข้าใจอย่างแท้จริง พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 85.0 ระบุรับรู้และเข้าใจ ในขณะที่ร้อยละ 15.0 ระบุยังไม่เข้าใจ ตามลำดับ
สำหรับความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานตามนโยบาย/มาตรการดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น พบว่า ผลการดำเนินงานที่ตัวอย่างแกนนำชุมชนมีความพึงพอใจมากที่สุด (จากการสำรวจในครั้งนี้) คือ การวางยุทธศาสตร์ชาติ ระยะสั้น- กลาง- ยาว การกำหนดพื้นฐานในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้ทุกรัฐบาลมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ไม่ทุจริต และใช้จ่ายงบประมาณอย่างถูกต้อง ที่พบว่า ร้อยละ 88.6 ระบุพอใจ รองลงมาคือ การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานตามโรดแม็ปของรัฐบาลให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบและเข้าใจอย่างทั่วถึงตรงกันที่ พบว่า ร้อยละ 88.5 ระบุพอใจ สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ที่มีความผิดตามกฎหมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งกฎหมายปกติ– คำสั่ง คสช.– มาตรา 44 ที่ยังคงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของประเทศ นั้นพบว่า ร้อยละ 88.2 ระบุพอใจ
นอกจากนี้ ยังพบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชน ร้อยละ 88.1ระบุมีความพึงพอใจในการดำเนินงานด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนในสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น การป้องกันการใช้อำนาจทั้ง 2 สภา และแนวทางการปฏิรูปประเทศ ร้อยละ 87.7ระบุพึงพอใจในการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย จากการมีความคิดเห็นที่แตกต่างในเรื่องเหล่านี้ ร้อยละ 87.6 ระบุพึงพอใจในการส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญ เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ การเลือกตั้ง การส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตามกระบวนการ และช่องทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ในขณะที่ร้อยละ 82.1ระบุพึงพอใจในการเผยแพร่ความรู้ และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนรับรู้รับทราบและเข้าใจอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ หากพิจารณาคะแนนความพึงพอใจโดยเฉลี่ยต่อการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และ คสช. โดยภาพรวม นับตั้งแต่การสำรวจในช่วงปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมาจะพบว่าจะมีการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 7.5 -8.8 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยในการสำรวจครั้งล่าสุดในต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพบว่า มีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 8.00 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ข่าวเด่น