อย. แจง อุปกรณ์สักเพื่อความสวยงาม หรือเพื่อจารีตประเพณีทางศาสนา ไม่เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ควรตระหนักถึงความปลอดภัยและความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ และหากเป็นการสักทางการแพทย์ สถานพยาบาลจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลอย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการ
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษก อย.เปิดเผยว่า ปัจจุบันการสักตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก ทั้งเพื่อความสวยงามเช่น การสักคิ้ว ริมฝีปาก หัวนม ผิวหนัง หรือเพื่อจารีตประเพณีทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ซึ่งการสักเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นการสักเพื่อแก้ไขความผิดปกติของผิวหนัง หรือโรคผิวหนังบางชนิดเช่น แผลเป็นจากอุบัติเหตุ ผ่าตัด ไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก ผมร่วง โรคด่างขาว (Vitiligo) การสักเพื่อสร้างขอบปากหลังผ่าตัดปากแหว่ง หรือการทำหัวนมและลานหัวนมเทียมภายหลังการผ่าตัดเต้านม ซึ่งอุปกรณ์ที่นำมาใช้สักเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตมุ่งหมายเฉพาะสำหรับใช้ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือเพื่อบำ บัด บรรเทา หรือรักษาโรคของมนุษย์ จึงจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งผู้นำเข้าต้องจดทะเบียนสถานประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ตามมาตรา 15 และปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 34) พ.ศ. 2549เรื่อง กำหนดเครื่องมือแพทย์ที่ห้ามนำเข้าหรือขาย การเลือกใช้บริการที่เกี่ยวกับการสักทางการแพทย์สถานที่ดังกล่าวต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลรวมถึงมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
ในการรักษา
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้สักเพื่อความสวยงามหรือเพื่อจารีตประเพณีทางศาสนา ไม่เข้าข่ายเป็นเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากการสักเพื่อความสวยงามหรือจารีตประเพณีทางศาสนาไม่ถือเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือเพื่อการบำ บัด บรรเทา หรือรักษาโรคของมนุษย์การเลือกใช้บริการที่เกี่ยวกับการสักเพื่อความสวยงาม หรือเพื่อจารีตประเพณีทางศาสนานั้น ผู้บริโภคควรตระหนักในเรื่องสถานที่ต้องมีความสะอาด อยู่ในสถานที่ที่เปิดเผยและมีสถานที่ตั้งเป็นหลักเป็นแหล่งแน่นอน อุปกรณ์ที่ใช้ในการสัก อาทิ เครื่องสัก เข็มสำหรับสัก ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากเชื้อหรือมีการล้างทำความสะอาด ฆ่าเชื้ออุปกรณ์ก่อนนำมาสัก สีที่ใช้ในการสักควรแยกหลอดสีในลูกค้าแต่ละราย ไม่ควรใช้ร่วมกันเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ
นอกจากนี้ ผู้ที่ทำการสักจะต้องได้รับการอบรมเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการสัก ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง และต้องมีความรู้และสามารถสื่อสารให้ผู้รับการสักทราบถึงการปฏิบัติตน การดูแลรักษาแผลภายหลังการสัก ส่วนผู้ที่รับการสัก ควรศึกษาถึงผลเสียและอาการข้างเคียงจากการสัก
และการลบรอยสัก เช่น แผลเป็น อาการบวม คัน อาการแพ้สีที่ใช้ในการสัก เนื่องจากปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสีที่ใช้ในการสักในแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาการแทรกซ้อน การติดเชื้อ HIV และไวรัสตับอักเสบ เป็นต้นรวมถึงต้องมีอายุที่เหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ที่คิดจะสักควรพิจารณาให้รอบคอบ เพราะหากต้องการลบรอยสักจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และไม่สามารถลบรอยสักออกได้หมด
ข่าวเด่น