ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สนช.ผ่าน 3 วาระรวดแก้รธน.ชั่วคราวทำประชามติ


 


วันนี้( 10 มี.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เป็นประธาน ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่...) พ.ศ.... ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และครม.เป็นผู้เสนอ
 
 
 
 
 
เพื่อพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดย มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนคสช. และครม.มาร่วมชี้แจง

นายวิษณุชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความจำเป็นที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเงื่อนไขประชามติร่างเดิมยังไม่มีความชัดเจน นำไปปฏิบัติได้ยาก หรือหากปฏิบัติได้ ก็จะไม่เป็นธรรม จึงจำเป็นต้องแก้ไข
          
นายวิษณุ กล่าวว่า ประเด็นขอแก้ไขมีมาตราเดียวคือ มาตรา 39/1 แต่มี 5 ประเด็นได้แก่ 1.หลักเกณฑ์เรื่องประชามติให้ใช้คะแนนเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิประชามติที่ออกเสียงให้ความเห็นชอบ 2.การกำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามผู้มาใช้สิทธิลงประชามติ ต้องไม่มีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามกฎเกณฑ์การเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายเมื่อต้นปี 2557 และกำหนดให้ผู้ที่มีอายุอย่างน้อย 18 ปี ในวันลงประชามติ เป็นผู้มีสิทธิลงประชามติ 3.การแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญไม่ต้องใช้หลักเกณฑ์ให้ได้ 80% ของครัวเรือนที่มีสิทธิออกเสียงประชามติ แต่ให้เผยแพร่โดยวิธีอื่นได้ตามที่กกต.กำหนด 4.การกำหนดให้สนช.ตั้งประเด็นคำถามเพิ่มเติมในการทำประชามติ นอกเหนือจากเรื่องร่างรัฐธรรมนูญได้ 5.การให้กกต.ออกกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์และการออกเสียงประชา มติ ขณะนี้กกต.ทำพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติเสร็จแล้ว มี 60 มาตรา จะเข้าสู่ที่ประชุมครม.วันที่ 15 มี.ค.นี้

หลังจากสมาชิกสนช.อภิปรายให้ความเห็นเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนนเสียง 194 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 จากนั้น ได้พิจารณาวาระ 2 เรียงลำดับรายมาตรา 

จากนั้นได้มีการพิจารณาวาระ 2 โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาพิจารณาตามรายมาตรา และมีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 4 โดย ครม. และ คสช. ขอปรับแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 3 วรรค คือ ในวรรคเจ็ด การจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ว่า จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยต้องกระทำในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ในการนี้ สนช. จะมีมติเสนอประเด็นอื่นใด ไม่เกิน 1 ประเด็น ที่สมควรให้ กกต. จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบพร้อมไปในคราวเดียวกันด้วยก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องเสนอภายใน 10 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งจาก กรธ. ตามวรรคสาม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ให้ สนช. รับฟังความเห็นของ สปท. ประกอบการพิจารณาด้วย
          
สำหรับวรรคเก้า ของมาตรา 39/1 ในมาตรา 4 ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ "ถ้าผลการออกเสียงประชามติมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ มากกว่าคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ ให้นายกรัฐมนตรี นำร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”
         
 และในวรรคสิบสอง ให้นำมาตรา 39 มาใช้บังคับแก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยอนุโลม และในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอประเด็นเพิ่มเติม ให้นำมาตรา 37/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากระหว่างคะแนนเสียงเห็นชอบกับไม่เห็นชอบเป็นเกณฑ์ และไม่ต้องให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของ กรธ. ซึ่งสมาชิกได้ลงมติเห็นชอบตามที่ คสช. และ ครม. เสนอ
         
 หลังจากนั้น ได้ลงมติในวาระ 3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 192 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีมติ เพื่อทูลเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับต่อไป

  

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 มี.ค. 2559 เวลา : 18:18:44

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:05 pm