กระทรวงสาธารณสุข เร่งรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายและยุงตัวแก่ในทุกพื้นที่ เน้นมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ล่าสุดพบนวัตกรรมใหม่ “กล่องพิฆาตยุง” ใช้แสงไฟสีม่วงอมดำและเกสรดอกไม้ เป็นตัวล่อยุง ฆ่ายุงให้สิ้นซาก
บ่ายวันนี้ (11 มีนาคม 2559) ที่ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม จังหวัดกาญจนบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน 5 ส 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ว่า การดำเนินงานเพื่อป้องกันควบคุมโรคที่เกิดจากยุงลาย กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือ ตั้งแต่ภาครัฐไปจนถึงประชาชน ซึ่งประเด็นที่สำคัญขณะนี้คือ การป้องกันควบคุมโรคที่เกิดจากยุงลายที่ทำให้เกิด 3 โรค คือ ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ด้วยเหตุนี้กระทรวงจึงออกมาตรการสำคัญในการป้องกันโรคจากยุงลาย ตามแนวทาง “ประชารัฐ ร่วมใจ ใช้ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” โดยขอความร่วมมือหน่วยงานและประชาชนทุกพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคจากยุงลาย 3 เก็บ คือ เก็บที่ 1เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บที่ 2 เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และเก็บที่ 3 เก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่
ทั้งนี้ เน้นการรณรงค์ช่วงหน้าแล้ง เพราะถือเป็นช่วงเวลาทอง ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 13 เมษายน 2559 นี้ เป็นช่วงที่ยุงเตรียมการระบาด ต้องรีบกำจัดให้หมดไป เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลฝนที่ยุงจะระบาด จะเป็นการลดการเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และลดการแพร่ระบาดโรคที่เกิดจากยุงได้ ทำเป็นประจำทุกวันศุกร์ในที่ทำงาน และกลับไปทำที่บ้านในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้ประชาชนปราศจากโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากยุงลาย
นพ.พนัส โสภณพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การดำเนินตามมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรคนั้น จังหวัดกาญจนบุรีได้ใช้วัดเป็นต้นแบบในการรณรงค์ โดยร่วมกับพระภิกษุ-สามเณร ประชาชนและทีมชุมชนจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ถูกลักษณะ เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากยุง นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมใหม่ ที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง ชื่อ “กล่องพิฆาตยุง” ออกแบบจากการศึกษาพฤติกรรมตามธรรมชาติของยุง เช่น รังสีความร้อน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พื้นที่สีดำหรือมุมอับ เกสรดอกไม้ แสงสีน้ำเงินม่วง ด้วยเหตุนี้จึงนำแสงไฟสีม่วงอมดำเป็นตัวล่อให้ยุงบินเข้ามา ยุงจะโดนตาข่ายที่มีกระแสไฟฟ้าทั้ง 4 ด้านช็อตตาย เป็นอีกวิธีที่จะช่วยกำจัดยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรคมาสู่คนได้ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ประชาชนสามรถทำได้ง่าย มีความปลอดภัย ฆ่ายุงให้สิ้นซาก
ข่าวเด่น