นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันเป็นประเด็นที่สาธารณะให้ความสนใจและเริ่มมีความกังวลถึงแนวโน้ม ของหนี้ครัวเรือนที่หากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มเติม
อาจจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจได้ ในประเด็นดังกล่าว กระทรวงการคลังขอชี้แจงว่า ในช่วงที่ผ่านมา ระดับหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ระดับหนี้ครัวเรือนมีมูลค่ารวม 10.84 ล้านล้านบาทหรือร้อยละ 80.8 ของ GDP คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็น การขยายตัวที่ชะลอลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 11 โดยสินเชื่อทุกประเภทมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงหรือหดตัวโดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (สินเชื่อ Non-Bank) มีอัตรา การขยายตัวร้อยละ 9.2 6.5 และ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อรถยนต์หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ร้อยละ -4.5
หนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงเป็นผลมาจากเหตุการณ์เฉพาะ 2 เหตุการณ์ ได้แก่ มหาอุทกภัย ในช่วงปลายปี 2554 ที่ทำให้ในเวลาต่อมาครัวเรือนต้องกู้ยืมเพื่อซ่อมแซมบ้าน และนโยบายรถคันแรก ในช่วงปี 2555 ที่ทำให้มีการซื้อรถยนต์ผ่านสินเชื่อรถยนต์และการเช่าซื้อเป็นจำนวนมาก โดย ณ สิ้นปี 2554 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 7.48 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 66.2 ของ GDP) และภายหลังจากทั้ง 2 เหตุการณ์ หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 9.85 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 76.3 ของ GDP)
อย่างไรก็ดี หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อในระบบที่มีหลักประกันและมีความเสี่ยงต่ำ โดยส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อสินทรัพย์ เช่น อสังหาริมทรัพย์ (ร้อยละ 27) และรถยนต์ (ร้อยละ 15) และเพื่อการดำเนินธุรกิจ (ร้อยละ 18) ซึ่งหากไม่รวมหนี้ที่ครัวเรือนกู้ยืมไปทำธุรกิจ หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 3 ปี 2558 จะอยู่ที่ 8.94 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 66.6 ต่อ GDP
หากพิจารณาเชิงเปรียบเทียบจะพบว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ใกล้เคียงกับประเทศในภูมิภาค ได้แก่มาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ร้อยละ 88 และ 75 ตามลำดับ และถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น แคนาดา สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างยั่งยืน โดยได้เร่งบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ผ่านมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้านและระดับตำบล มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองภายใต้โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐเพื่อใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน
นอกจากการสร้างความสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลยังคำนึงถึงการวางรากฐานแก่เศรษฐกิจไทยให้มีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและและการพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ โดยมีมาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และมาตรการสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในการเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)
ทั้งการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่มีอยู่แล้วในประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลาง (First S-Curve) และการลงทุนและพัฒนาในอุตสาหกรรมใหม่เพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงให้แก่ประเทศ (New S-curve) ควบคู่กันไปด้วย
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวสรุปว่า “กระทรวงการคลังยังคงเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ โดยดูแลทุกภาคส่วน ควบคู่กับการวางรากฐานให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน”
ข่าวเด่น