ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กพช.อนุมัติแผนส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย


 


กพช.เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ระยะที่1 เตรียมความพร้อมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามุ่งเน้นการนำร่องการใช้งานกลุ่มรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า
 

เมื่อ11มี.ค.ที่ผ่านมาพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2559  ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ประธานแจ้งที่ประชุมรับทราบโดยได้กล่าวขอบคุณกระทรวงพลังงานและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วนทำงานอย่างต่อเนื่องในการดูแลประชาชนในเรื่องของพลังงานตามนโยบายรัฐบาล และทำให้ปัญหาความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับพลังงานงานลดลงเป็นที่น่าพอใจ
 
พร้อมกันนี้ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการสร้างการรับรู้และชี้แจงให้กับประชาชนเข้าใจในเรื่องที่มีความซับซ้อนหรือประเด็นที่จะมีการดำเนินการ โดยใช้ภาษาสื่อสารให้สอดคล้องเหมาะสมกับประชาชนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนในสังคมและประชาชนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาลในการวางพื้นฐานอนาคตของประเทศให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืนและเดินหน้าต่อไปได้

พร้อมกันนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แถลงผลการประชุม สรุปดังนี้

ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย เพื่อรองรับการพัฒนาและเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย กระทรวงพลังงานจึงได้ดำเนินการ ดังนี้

1)        จัดทำแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย โดยให้สอดคล้องกับแนวทางที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 : เตรียมความพร้อมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นการนำร่องการใช้งานกลุ่มรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด้านสาธารณูปโภค การสนับสนุนด้านภาษี และการปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงอัตราค่าบริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

ระยะที่ 2 : ขยายผลในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ และเตรียมความพร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล โดยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ การกำหนดรูปแบบและมาตรฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า การกำหนดมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุน การทบทวนโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า

ระยะที่ 3 : ขยายผลไปสู่การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล โดยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้า พัฒนาระบบบริหารจัดการการอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging) และพัฒนาระบบบริหารความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศร่วมกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (Vehicle to Grid: V2G)

2)  เตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนฯ ในระยะที่ 1 ประกอบด้วย

-   จัดทำโครงการนำร่องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ากลุ่มรถโดยสารสาธารณะ และการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง
-   จัดทำกรอบแนวทางอัตราค่าบริการชั่วคราวสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในระยะแรกโดยกำหนดให้มีต้นทุนการสิ้นเปลืองพลังงานต่อกิโลเมตรต่ำกว่ายานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง NGV
-   ดำเนินการจัดทำมาตรการและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า
-   ศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช. ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนฯ ในระยะที่ 1 และเห็นชอบกรอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการชั่วคราวสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในระยะแรก โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป

อีกทั้งที่ ประชุม กพช. ได้เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2564 ในวงเงินปีละ 12,000 ล้านบาท ภายในวงเงินรวม 60,000 ล้านบาทโดยกำหนดสัดส่วนจัดสรรเงินกองทุนฯ ให้กับ 3 แผนหลัก ได้แก่ แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 67% รองลงมาคือ แผนพลังงานทดแทน 30% และแผนบริหารทางกลยุทธ์ 3% ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ตลอดจนนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล อาทิ นวัตกรรมใหม่ด้านพลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ฯลฯให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด

พร้อมทั้ง ที่ประชุม กพช. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้เข้าสู่กระบวนการในการออกเป็นกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เพื่อปรับปรุงโครงสร้างในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความชัดเจนและมีกฎหมายรองรับ กบง. จึงให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ ดังนี้

1) รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพของประชาชน ในกรณีเกิดวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจ
2) สนับสนุนให้เชื้อเพลิงชีวภาพมีส่วนต่างราคาที่สามารถแข่งขันกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้
3) บรรเทาผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส
4) สนับสนุนการลงทุนการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ สำหรับสนับสนุนการป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำมาใช้ในกรณีวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง และเพื่อประโยชน์ความมั่นคงทางด้านพลังงาน
5) สนับสนุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงในกิจการของรัฐ สำหรับความมั่นคงทางด้านพลังงาน
 

บันทึกโดย : วันที่ : 12 มี.ค. 2559 เวลา : 07:29:50

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:17 am