ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สธ.ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานที่ผลิต-จำหน่ายขนมจีน


กระทรวงสาธารณสุข มอบสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบสถานที่จำหน่ายขนมจีน  ที่พบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ และสืบสวนหาแหล่งผลิต เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปแล้ว พร้อมให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบสถานที่ผลิตและจำหน่ายขนมจีน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ชี้ การใช้วัตถุเจือปนอาหารเกินปริมาณที่กำหนดจะจัดเป็นอาหารไม่ได้มาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

 


นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการสุ่มตรวจสารกันบูดในขนมจีน ว่าตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าว ผลการสุ่มเก็บตัวอย่างขนมจีนเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสีย (สารกันบูด) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้สุ่มตรวจเส้นขนมจีน 12 ยี่ห้อ จากแหล่งจำหน่าย พบว่า ทุกยี่ห้อมีการใช้วัตถุกันเสีย โดยมี 2 ยี่ห้อที่มีปริมาณวัตถุกันเสียเกินข้อกำหนดตามกฎหมายคือ เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) ร่วมกับสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสถานที่จำหน่ายขนมจีน  ที่พบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน เพื่อเก็บตัวอย่างของขนมจีนส่งตรวจวิเคราะห์ และสืบสวนหาแหล่งผลิตเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปแล้ว พร้อมกันนี้ ได้แจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังสถานที่ผลิตและจำหน่ายขนมจีน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคอีกด้วย

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ขนมจีนจัดเป็นอาหารในภาชนะบรรจุ ซึ่งต้องแสดงฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ โดยตามประกาศฯดังกล่าวผู้ผลิตต้องระบุชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบที่สําคัญ วันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน และหากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร โดยเฉพาะวัตถุกันเสียจะต้องแจ้งไว้บนฉลากอย่างชัดเจน หากไม่ติดฉลากหรือฉลากไม่ครบถ้วน มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และการใช้วัตถุเจือปนอาหารเกินปริมาณที่กำหนดจะจัดเป็นอาหารไม่ได้มาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

สำหรับกรดเบนโซอิก เป็นวัตถุกันเสียที่มีประวัติการใช้มานาน  มีการนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ เช่น เครื่องดื่มชนิดต่างๆ ทั้งชนิดที่อัดคาร์บอนไดออกไซด์และไม่อัดคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำหวานชนิดต่างๆ น้ำผลไม้ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (alcoholic beverage) แยม เยลลี่ ผัก ผลไม้ดอง (pickle) น้ำสลัด ฟรุตสลัด และ มาการีน เป็นต้น  ทั้งนี้ กรดเบนโซอิกยังสามารถระเหยกลายเป็นไอได้เมื่อถูกความร้อน หากสัมผัสตาหรือสูดดมไอ  ทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการแสบตา เยื่อบุทางเดินหายใจระคายเคือง ส่วนการรับประทานกรดเบนโซอิก ร่างกายกำจัดกรดเบนโซอิกออกทางปัสสาวะ ไม่มีการสะสมในร่างกาย  แต่หากรับประทานในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ประสิทธิภาพการทำงานของตับ และไตลดลงหรืออาจพิการได้  ซึ่งในแต่ละวันร่างกายไม่ควรได้รับปริมาณสารกันบูดหรือ  วัตถุกันเสียเกินกว่า 5 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. นั่นคือหากมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 45 กก. ไม่ควรได้รับสารกันบูดเกิน 225 มก.ต่อวัน (ซึ่งหมายถึงเป็นปริมาณรวมของวัตถุกันเสียจากอาหารทุกชนิดที่รับประทานต่อวัน ) และจากการทดลองพบว่าหากได้รับปริมาณกรดเบนโซอิคสูงถึง 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้
 

บันทึกโดย : วันที่ : 12 มี.ค. 2559 เวลา : 12:46:12

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:45 am