ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การสร้างกระเช้าขึ้นยอดภูกระดึง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9 – 11 มีนาคม 2559 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ โดยแบ่งเป็นประชาชนทั่วไป จำนวน 1,175 หน่วยตัวอย่าง และประชาชนในจังหวัดเลย จำนวน 214 หน่วยตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,389 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับโครงการสร้างกระเช้าขึ้นยอดภูกระดึง
จากผลการสำรวจ เมื่อถามว่าประชาชนเคยไปภูกระดึงหรือไม่ พบว่า กลุ่มประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.51 ระบุว่า ไม่เคยไป ขณะที่ ร้อยละ 19.49 ระบุว่า เคยไป ส่วนกลุ่มประชาชนในจังหวัดเลย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.21 ระบุว่า เคยไป และร้อยละ 38.79 ระบุว่า ไม่เคยไป
เมื่อถามประชาชนที่ไม่เคยไปภูกระดึง ว่าหากมีโอกาสจะไปเที่ยวภูกระดึงหรือไม่ พบว่า กลุ่มประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.58 ระบุว่า จะไปแน่นอน รองลงมา ร้อยละ 38.05 ระบุว่า อาจจะไป ร้อยละ 21.04 ระบุว่า จะไม่ไป และร้อยละ 2.33 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ เช่นเดียวกับกลุ่มประชาชนในจังหวัดเลย พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 46.99 ระบุว่า จะไปแน่นอน รองลงมา ร้อยละ 26.50 ระบุว่า อาจจะไป ร้อยละ 24.10 ระบุว่า จะไม่ไป และร้อยละ 2.41 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการสร้างกระเช้าขึ้นยอดภูกระดึง พบว่า กลุ่มประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่เกินครึ่ง ร้อยละ 51.58 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 26.81 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 2.04 ระบุว่า ควรปิดภูกระดึงไปเลย เพื่อเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติ ร้อยละ 10.55 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 9.02 ไม่ระบุ/เฉย ๆ ส่วนกลุ่มประชาชนในจังหวัดเลย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.02 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 28.50 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 5.61 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 1.87 ไม่ระบุ/เฉย ๆ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่าเห็นด้วยนั้น ให้เหตุผลว่า เป็นการเพิ่มความสะดวกสบาย ประหยัดเวลาในการเดินทางขึ้นไปบนอุทยาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างลูกหาบเพื่อขนสัมภาระ เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีสำหรับนักท่องเที่ยวให้สามารถใกล้ชิดกับธรรมชาติได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาในการเดิน เป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้สามารถเข้าถึงในพื้นที่บนเขาได้เมื่อมีเหตุกรณีฉุกเฉินได้อีกด้วย
ในจำนวนผู้ที่ระบุว่าไม่เห็นด้วยนั้น ให้เหตุผลว่า มีความกังวลในเรื่องของการตัดไม้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่บางส่วน ส่งผลให้ระบบนิเวศเสียสมดุล ในส่วนของผู้ที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ ในเขตพื้นที่อุทยานอาจได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอาชีพลูกหาบ และร้านค้าบริเวณริมทางเดินขึ้นยอดภูกระดึง มีรายได้ลดลง ทั้งนี้เสน่ห์ของภูกระดึงนั้นคือการเดินขึ้นยอดภูด้วยตนเอง หากมีกระเช้าแล้ว จะเป็นการบดบังหรือทำลายทัศนียภาพในการชมวิว ในขณะที่ในจำนวนผู้ที่ยังไม่แน่ใจ ระบุเหตุผลว่า ยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัด ขอศึกษาดูรายละเอียดถึงข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบของโครงการก่อน ไม่แน่ใจว่าจะทำลายธรรมชาติมากน้อยเพียงใด ซึ่งการสร้างกระเช้ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย อีกทั้งบางส่วนระบุว่ายังไม่เคยขึ้นไปภูกระดึง จึงไม่ทราบว่ามีความลำบากมากน้อยเพียงใด
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อบุคคล/หน่วยงานที่ควรเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจว่าควรจะสร้างกระเช้าขึ้น ยอดภูกระดึง พบว่า กลุ่มประชาชนทั่วไป ร้อยละ 24.26 ระบุว่า เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภูกระดึง รองลมา ร้อยละ 19.57 ระบุว่า เป็นประชาชนทั่วไป ร้อยละ 15.91 ระบุว่า เป็นรัฐบาล ร้อยละ 9.87 ระบุว่า เป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่อุทยาน ร้อยละ 8.51 ระบุว่า เป็นกลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ร้อยละ 5.28 ระบุว่า เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเลย ร้อยละ 2.64 ระบุว่า เป็นกลุ่มผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เช่น ร้านค้า ลูกจ้าง ลูกหาบ ร้อยละ 4.60 ระบุว่า เป็นหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หน่วยงานในพื้นที่รวมไปถึงประชาชนหน่วยงานทุก ๆ ฝ่ายควรมีส่วนร่วมด้วยกันทั้งหมด และร้อยละ 9.36 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ
ส่วนกลุ่มประชาชนในจังหวัดเลย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.17 ระบุว่า เป็นประชาชนทั่วไป รองลงมา ร้อยละ 23.83 ระบุว่า เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภูกระดึง ร้อยละ 13.08 ระบุว่า เป็นรัฐบาล ร้อยละ 3.27 ระบุว่า เป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่อุทยาน ร้อยละ 2.34 ระบุว่า เป็นกลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ร้อยละ 14.49 ระบุว่า เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเลย ร้อยละ 0.93 ระบุว่า เป็นกลุ่มผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เช่น ร้านค้า ลูกจ้าง ลูกหาบ ร้อยละ 9.35 ระบุว่า เป็นหน่วยงานอื่น ๆ และร้อยละ 6.54 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ข่าวเด่น