รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพผู้ประกอบโรคศิลปะ 7 สาขาใหม่ อาทิ แพทย์แผนจีน จิตวิทยาคลินิก เป็นต้น ห้ามโฆษณา ใช้ จ้างวาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาความรู้ความชำนาญของคนเอง กรณีผู้ประกอบโรคศิลปะที่เผยแพร่หรือตอบปัญหาทางสื่อ อนุญาตให้แจ้งสถานที่ประกอบโรคศิลปะได้ แต่ต้องไม่โอ้อวดเกินจริง และต้องไม่ปรากฏเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวในที่เดียวกัน ห้ามฮั้วผลประโยชน์ มีผลใช้แล้วตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะยุติการโฆษณา
นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการควบคุมการโฆษณาของผู้ประกอบโรคศิลปะที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับอนุญาตจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ว่า ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพผู้ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2559 ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นมา เพื่อคุ้มครองประชาชนที่ใช้บริการ
ตามระเบียบนี้ มีผลบังคับใช้กับผู้ประกอบโรคศิลปะ 7 สาขาใหม่ ได้แก่ สาขากิจกรรมบำบัด สาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก สาขารังสีเทคนิค สาขาจิตวิทยาคลินิก สาขากายอุปกรณ์ และสาขาการแพทย์แผนจีน ซึ่งมีผู้ขึ้นทะเบียนกับสำนักสถานพาบาลและการประกอบโรคศิลปะ 7,624 คน โดยอนุญาตให้โฆษณา เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการประกอบโรคศิลปะทางสื่อ รวมถึงการกระทำใดๆที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจความหมายการประกอบโรคศิลปะของตนได้ แต่ห้ามไม่ให้โฆษณา ใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาการประกอบโรคศิลปะ ความรู้ความชำนาญในการประกอบโรคศิลปะของตน ในกรณีที่ทำการเผยแพร่ หรือตอบปัญหาทางสื่อทุกประเภท สามารถแสดงตนว่าเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะและแจ้งสถานที่ประกอบโรคศิลปะได้ แต่ห้ามสื่อไปในทำนองโฆษณาโอ้อวดเกินความเป็นจริง หลอกลวง หรือทำให้ผู้ป่วยหลงเชื่อมาใช้บริการ ส่วนการแจ้งสถานที่ประกอบโรคศิลปะต้องไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัวปรากฏอยู่ในที่เดียวกัน รวมทั้งห้ามไม่ให้หรือรับผลประโยชน์เป็นค่าตอบแทน เนื่องจากการรับหรือส่งผู้ป่วยเพื่อรับบริการทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่าการฮั้วผลประโยชน์ ไม่ออกใบรับรองเท็จ ไม่ใช้หรือสนับสนุนผู้อื่นให้ประกอบโรคศิลปะโดยผิดกฎหมาย
โฆษกกรม สบส. กล่าวต่อว่า การโฆษณาการประกอบโรคศิลปะและความรู้ความชำนาญ ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบโรคศิลปะ สามารถกระทำได้ไม่ผิดกฎหมาย มีดังนี้ 1.การแสดงผลงานในวารสารทางวิชาการหรือในการประชุมวิชาการ 2.การแสดงผลงานในหน้าที่หรือการบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ 3.การแสดงผลงานหรือความก้าวหน้าทางวิชาการ เพื่อการศึกษามวลชน 4.การประกาศเกียรติคุณเป็นทางการโดยสถาบันวิชาการ สมาคม หรือมูลนิธิ
ในกรณีการติดป้ายหรืออักษรที่สำนักงานและที่อยู่ของตน สามารถใช้ข้อความเฉพาะเรื่องได้ดังต่อไปนี้ 1.ชื่อ นามสกุล และสามารถใช้ตำแหน่งทางวิชาการ เช่นศาสตราจารย์ รวมทั้ง ยศ ฐานันดรศักดิ์ได้ 2.ชื่อปริญญา วุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติ หรือหนังสือแสดงคุณวุฒิอย่างอื่นที่ได้มาอย่างถูกต้องจากคณะกรรมการวิชาชีพหรือจากสถาบันการศึกษารับรอง 3.ที่อยู่ ที่ตั้งสำนักงาน หมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร ที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่ออื่นๆ 4.ประเภทใบอนุญาตและสาขาแห่งการประกอบวิชาชีพของตน 5.ความรู้ความสามารถเฉพาะทางการประกอบโรคศิลปะที่ได้รีบอนุมัติจากคณะกรรมการวิชาชีพ 6.ชื่อสถานพยาบาลและเวลาทำงาน โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้แจ้งเวียนไปยัง กทม. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดูแลผู้ประกอบโรคศิลปะในพื้นที่ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ทั้งนี้หากฝ่าฝืน จะมีความผิดฐานโฆษณา ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มีโทษปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะยุติการโฆษณา ส่วนผู้ประกอบโรคศิลปะ จะส่งให้คณะกรรมการวิชาชีพเป็นผู้พิจารณาความผิด ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2556 ตามความรุนแรงการกระทำผิดตั้งแต่สถานเบาคือว่ากล่าวตักเตือนจนถึงขั้นหนักสุดคือ เพิกถอนในอนุญาต
ข่าวเด่น