ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงท่าทีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ รัฐบาลที่จะส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการได้มาซึ่ง ส.ว. แบบสรรหา 200 ท่าน เป็นระยะเวลา 5 ปี ช่วงเปลี่ยนผ่าน พร้อมเหตุผลประกอบเพื่อให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บรรจุการมี ส.ว. สรรหาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะให้ประชาชนลงมติว่า
นับเป็นเรื่องที่ดีที่ คสช. และรัฐบาล จะทำเป็นหนังสือ พร้อมเหตุผลอย่างเป็นทางการ ถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ดีกว่าแอบสั่งด้วยวาจา เหมือนที่เคยสั่ง อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานร่างรัฐธรรมนูญชุดที่แล้ว และควรจะเปิดเผยหนังสือให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อที่สังคมจะได้พิจารณาไปพร้อมๆกัน กับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า เหตุผลมีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่อย่างไร
ขณะเดียวกันเมื่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเสนอเรื่อง ส.ว. สรรหาแล้ว ก็ควรเปิดเผยเหตุผลของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชนเช่นเดี่ยวกันว่าจะรับข้อเสนอของ คสช. และ รัฐบาล หรือไม่อย่างไร เพื่อประชาชนจะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ว่าควรรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ที่กำลังจะร่างเสร็จเรียบร้อยในวันที่ 29 มีนาคม นี้ เชื่อว่า คสช. และรัฐบาล คงมีเจตนาดีต่อบ้านเมือง และคิดว่าบ้านเมืองจะเดินหน้าต่อไปได้ ต้องใช้วิธีการให้มี ส.ว. สรรหา 5 ปี แต่ คสช. และ รัฐบาล ต้องพึงตระหนักเช่นเดียวกันว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญและบุคคลอื่นๆก็มีเจตนาดีต่อบ้านเมือง และอยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ก็อาจมีความเห็นต่างจาก คสช. และ รัฐบาล ซึ่ง คสช. และรัฐบาล ก็ควรรับฟังด้วยเหตุด้วยผล ไม่ควรเอาความคิดของตนเป็นใหญ่ อย่าใช้อำนาจบาตรใหญ่ ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อใครทั้งสิ้น
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาข้อเสนอของ คสช. และ รัฐบาล นั้น อยากให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารราด้วยความรอบคอบว่าการเขียนรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว. มีที่มาอย่างไรนั้น ควรดูอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ที่จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ควบคู่ไปด้วย เพราะอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ควรสอดคล้องกับวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. “ส.ว. ที่ไม่มีที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็ไม่ควรมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ ส.ส. ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดผู้แทนโดยตรง” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว . รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า การที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรือ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางท่านเสนอให้ระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี หลังเลือกตั้งควรให้ ส.ว. มีอำนาจหน้าที่ไม่ต่างจาก ส.ส. คือมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ลงมติไม่ ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพราะข้อเสนอใดที่แสดงออกถึงความต้องการมากเกินไปอย่างสุดขั้ว ก็ย่อมไม่ได้รับการยอมรับ
จึงขอเรียกร้องให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญยืนหยัดในจุดยืนบนความพอดีไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป จึงจะทำให้ได้รับการยอมรับ ประเทศก็จะเดินหน้าไปได้ อะไรที่เกินพอดีย่อมมีโอกาสที่ไปไม่ถึงฝั่งฝันได้ ข้อเสนอใดที่สุดขั้วสุดโต่งเกินไปย่อมเป็นตัวการสร้างเงื่อนไขทางการเมืองที่อาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างคาดไม่ถึง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดีตนอยากให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณากลไกการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่บัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังแก้ไขอยู่ขณะนี้ ที่ให้เลือกตั้งบุคคลทางอ้อมจาก 20 สาขา อาชีพแล้วให้เลือกไขว้จากต่างสาขาอาชีพเสียใหม่ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นด้วยการให้ผู้สนใจสมัครเป็น ส.ว. ตามกลุ่มสาขาอาชีพเหมือนเดิม และให้เลือกกันเองภายในกลุ่มสาขาอาชีพให้ได้จำนวนมากกว่าจำนวน ส.ว. ที่พึงมี 2 หรือ 3 เท่า จากนั้นให้ประชาชนทั้งประเทศเลือก ส.ว. จากกลุ่มอาชีพตามจำนวนที่กำหนด วิธีการนี้ก็จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม และ ทำให้ได้ ส.ว. จากกลุ่มสาขาอาชีพ ตามที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญประสงค์อีกด้วย ซึ่งจะทำให้โอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะได้รับการยอมรับจากประชาชนมีมากขึ้น ขอฝากให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วยความจริงใจ
ข่าวเด่น