ไทย-ไต้หวัน จับมือเร่งเดินหน้าทำความตกลงด้านการประมง เพื่อแก้ไขปัญหาไอยูยู ภาคเอกชนไต้หวันขานรับมาตรการตรวจสอบย้อนกลับและเอกสารรับรองการจับปลาทูน่าก่อนส่งไทย มุ่งเป้าปลดล็อกใบเหลืองระหว่างกัน
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีแผนขยายความร่วมมือด้านการประมงกับประเทศต่าง ๆ ในการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ (MOU) ทั้งด้านวิชาการประมง และการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ ไอยูยู กับ 7 ประเทศ ซึ่งหลายๆ ประเทศได้มีการหารือและมีกรอบการทำงานร่วมกันในเบื้องต้นแล้ว ประกอบด้วย สาธารณรัฐเกาหลี สเปน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิจิ จีน รวมถึงไต้หวันที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 1-2 มี.ค.59 ที่ผ่านมา นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ได้ประชุมร่วมกับกรมประมงไต้หวัน ซึ่งประเด็นสำคัญในการหารือในครั้งนี้ คือ การต่อต้านการประมงไอยูยู เนื่องจากไทยและไต้หวันต้องการให้มีความตกลงด้านการประมงเป็นการเฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหาไอยูยูร่วมกัน เพราะไต้หวันเป็นผู้จับปลารายใหญ่ และเป็นแหล่งวัตถุดิบปลาทูน่าที่สำคัญของไทยในการแปรรูปเป็นทูน่ากระป๋องส่งออกไปยัง ยุโรป และอเมริกา โดยไทยนำเข้าทูน่าจากไต้หวันปีละ 150,000 ตันจากการนำเข้าทั้งหมด 800,000 ขณะที่ไทยเป็นผู้แปรรูปปลาทูน่ารายใหญ่ ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายอยู่ภายใต้ห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน และอยู่ในสถานะใบเหลืองเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะทำข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยู โดยสาระสำคัญของข้อตกลงฯ คือ ทั้งสองประเทศจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับระหว่างกัน โดยไต้หวันได้ให้ความมั่นใจของความถูกต้องของเอกสารใบรับรองการจับปลาทูน่าที่ออกโดยฝ่ายไต้หวัน ขณะเดียวกัน ไต้หวันจะส่งข้อมูลเกี่ยวกับใบอนุญาตทำการประมง ทะเบียนเรือประมง การขนถ่ายปลา ข้อมูลระบบติดตามเรือ ( vms ) ของเรือประมงไต้หวันให้กับไทยเพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบ และไต้หวันจะเร่งออกใบรับรองการจับปลาทูน่าให้กับไทยภายใน 5 วัน หากไทยขอให้ตรวจสอบใบรับรองที่สงสัยไต้หวันจะดำเนินการให้ภายใน 15 วัน ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นไป เรือขนส่งที่นำทูน่ามายังไทยจะต้องอยู่ในบัญชีของอียู
สำหรับฝ่ายไทยจะส่งข้อมูลเรือประมงไต้หวันที่มาเทียบท่าที่ภูเก็ตให้ไต้หวัน รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับปลาที่ขึ้นท่า และหน้าโรงงาน และสถิติ ปลาจากไต้หวันที่แปรรูปแล้วส่งไปอียู เพื่อให้ไต้หวันรู้ว่าปลาของตนเองไปอยู่ที่ไหน โดยทางไต้หวันจะมาร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมประมงของไทยตรวจสอบเรือประมงของไต้หวันที่เข้ามาเทียบท่าและขนถ่ายปลาที่ภูเก็ต ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานร่วม นำโดยระดับอธิบดี เพื่อพัฒนาความร่วมมือและแก้ไขปัญหา ไอยูยูร่วมกัน โดยในเบื้องต้นผลจากการประชุมครั้งนี้ ทำให้ได้ร่างความตกลงแล้ว ขั้นต่อไปกรมประมงจะส่งร่างนี้ให้กรมสนธิสัญญาเพื่อให้ความเห็นและลงนามในขั้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงการร่วมมือในการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูของภาครัฐทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังพบว่า ในการร่วมประชุมกับภาคเอกชนของไต้หวัน ก็ยินดีที่จะช่วยแก้ปัญหาร่วมกับภาครัฐของไต้หวันในการส่งใบรับรองการจับมาให้ไทยเร็วขึ้น พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องตามที่ไทยได้หยิบยกขึ้นหารือ เพื่อให้ทั้งสองประเทศประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาใบเหลืองได้โดยเร็วอีกด้วย
ข่าวเด่น