กระทรวงพาณิชย์เตรียมผลักดันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทำจากข้าวไทย เป็นวัตถุดิบทดแทนข้าวสาลี เน้นอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภคที่รักสุขภาพ หลังพบคนจีนจำนวนมากถึง 4 ใน 62 คน แพ้สาร Gluten ในข้าวสาลี คาดปี 2563 มูลค่าจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีนจะพุ่งถึงราว 450,000 ล้านบาท
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเตรียมผลักดันแนวคิดอาหารปลอดภัยสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่เน้นสุขภาพและแพ้สาร Gluten ในข้าวสาลี โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หาช่องทางเจรจาผู้ผลิตเปลี่ยนมาใช้แป้งข้าวเจ้าของไทย เป็นวัตถุดิบทำผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทนแป้งข้าวสาลี โดยเฉพาะในจีน ซึ่งเป็นการช่วยระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลด้วย
ปัจจุบันจีนนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านรายได้และวิถีชีวิตการดำรงชีวิตที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ทำให้มีพฤติกรรมหันมาบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้ามากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะจำหน่ายตลาดในเมืองใหญ่ๆเป็นหลัก ซึ่งยังมิได้ให้ความสำคัญกับตลาดในชนบท หรือเมืองรอง จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนรายได้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคในชนบทมีกำลังซื้อสูงขึ้นตามไปด้วย พฤติกรรมการบริโภคก็เปลี่ยนแปลง หันมานิยมบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้ามากขึ้น อีกทั้งการค้าออนไลน์E-Commerce ได้รับการพัฒนาและได้รับความนิยมจากชาวจีนมากขึ้น ทำให้เกิดช่องทางการจำหน่ายใหม่ ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าเพิ่มและขยายปริมาณการนำเข้าสู่ตลาดจีนมากขึ้น
ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตลาดจีนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ผลิตในประเทศและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้า เนื่องจากความต้องการและความแตกต่างด้านรสชาติ ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่นิยมแบรนด์ที่นำเข้าจากเอเชียเป็นหลัก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงค์โปร์ และไทย โดยสินค้าของเกาหลีและไทย ได้รับความนิยมและขายดีที่สุด ทั้งนี้ จากข้อมูลนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2558 มีมูลค่าการจำหน่ายเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 22 ต่อปี ปริมาณการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.1 ของท้องตลาด และคาดว่าในปี 2563 มูลค่าการจำหน่ายจะสูงถึง 100,000 ล้านหยวน (ประมาณ 450,000 ล้านบาท)แสดงให้เห็นว่าโอกาสในการขยายตัวตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าในตลาดจีนยังมีอีกมาก
จากข้อมูลสถิติของอุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปริมาณความต้องการของตลาดจีนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2556 มีความต้องการจำนวน 46,220 ล้านห่อ มากเป็นอันดับ 1 ของโลก รองมาคือ อินโดนีเซีย จำนวน 14,000 ล้านห่อ และ ญี่ปุ่น ส่วนในปี 2557 จีนมีความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงถึง 48,615 ล้านห่อ ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 5.18 แสดงให้เห็นว่า จีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพและนิยมบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามจากการที่รายได้ของประชาชนชาวจีนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มุ่งความสนใจและให้สำคัญในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และสุขอนามัยของสินค้าอาหารมากขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองของจีนที่ได้ยกระดับสูงขึ้น สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ยิ่งได้รับความนิยม เพราะมีความสะดวกทั้งในการพกพาและรับประทาน
ที่บ้าน และยังมีหลายรสชาติให้เลือกได้ตามความต้องการ นอกจากผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองจะนิยมแล้ว ยังพบว่าคนในชนบทอีกจำนวนไม่น้อย เริ่มหันมารับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นด้วย
จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้พบว่า คนเอเชียเริ่มมีแนวโน้มที่จะแพ้สาร Gluten จากข้าวสาลีในผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ส่วนใหญ่จะเกิดกับชาวตะวันตกเพราะบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากข้าวสาลีหลากชนิดก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าวยังพบว่าคนจีน 4 ใน 62 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่สูงของประชากรจีน จะแพ้สาร Gluten จากผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารของชาวตะวันตกที่เป็นที่นิยมในตลาดจีนขณะนี้
ดังนั้น โอกาสที่ผลิตภัณฑ์จากข้าวไทยที่ไม่มีสาร Gluten จะไปทดแทนผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีก็จะมีมากขึ้นซึ่งจะมอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้ดำเนินการผลักดันเพื่อใช้ข้าวของไทยไปเป็นวัตถุดิบทดแทนข้าวสาลีเพื่อผลิตสินค้าในประเทศอื่นๆด้วยไม่เฉพาะจีนประเทศเดียว ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพราะปัจจุบัน
ข้าวของไทยที่มีสี เช่น ไรซ์เบอร์รี่ ก็สามารถนำมาทำขนมปัง บิสกิต ฯลฯ แทนแป้งสาลีได้และยังมีรสชาติหอม นุ่มนวล อีกด้วย
สำหรับการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีนใช้ข้าวสาลี และมันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งในอนาคตคาดว่าปริมาณความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการวัตถุดิบมากขึ้นตามไปด้วย และหากสามารถเจรจาผลักดันให้ใช้แป้งข้าวเจ้าของไทยซึ่งไม่มีสาร Gluten เหมือนข้าวสาลี ก็จะทำให้ผู้บริโภค
ที่รักสุขภาพที่แพ้สารดังกล่าวจำนวนมากถึง 4 ใน 62 คน ของประชากรจีน ก็จะหันมาบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ทำจากข้าวไทยกลุ่มใหญ่แน่นอน
นางอภิรดี กล่าวในตอนท้ายว่า แนวโน้มชาวจีนจะหันมาบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นแบรนด์ระดับกลาง-ถึงสูง มากที่สุด ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยจะไปทำธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีนให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องร่วมมือกับผู้นำเข้า/ผู้แทนจำหน่าย เพื่อประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆให้มากขึ้น รวมทั้งต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ก่อนเข้าสู่ตลาดจีน เพื่อป้องกันการถูกลอกเลียนแบบ และต้องมีการวางกลยุทธ์การจำหน่ายที่สามารถแข่งขันได้
ข่าวเด่น