วันนี้ (15 มีนาคม 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ทำให้หลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาดประกอบกับอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่ประชาชนจะป่วยด้วยโรคที่มากับภัยแล้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ค้างคืน มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำไม่สะอาดหรือมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอุจจาระร่วง จากข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 7 มีนาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 203,531 ราย จากทั่วประเทศ เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-24 ปี (11.24%) รองลงมา มากกว่า 65 ปี (11.08 %) และ 25-34 ปี (9.64 %) ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ มหาสารคาม สมุทรสงคราม พิจิตร แม่ฮ่องสอน และ ภูเก็ต
โรคอุจจาระร่วง เกิดขึ้นได้กับประชาชนทุกวัย สาเหตุเกิดได้ทั้งจาก เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส โปรโตซัว ปรสิต หนอนพยาธิ และเชื้อไวรัสโรต้า โดยผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า หรือถ่ายมีมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง อาเจียนบ่อย กินอาหารไม่ได้ กระหายน้ำกว่าปกติ มีไข้สูง สำหรับการดูแลผู้ที่ป่วยโรคอุจจาระร่วง กรณีที่เป็นเด็ก ให้เด็กรับประทานอาหารเหลวบ่อย ๆ หากเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปและผู้สูงอายุ ให้รับประทานอาหารตามปกติ แต่ควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย ควรดื่มน้ำเกลือแร่แทนน้ำเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ มีไข้สูง หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง สำหรับการป้องกันโรคอุจจาระร่วง ขอให้ผู้ประกอบการอาหารและประชาชนทั่วไปปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึงและสะอาด ล้างผัก ผลไม้ให้สะอาดด้วยน้ำหลายๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียง หั่นอาหารดิบและอาหารสุกแล้วร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค รวมถึงหมั่นดูแลรักษาครัวให้สะอาดอยู่เสมอ
นายแพทย์อำนวย กล่าวปิดท้ายว่า ในช่วงนี้ขอให้ประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” โดยรับประทานอาหารเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อนและสะอาด อาหารทะเลก็ขอให้ปรุงสุกเช่นกัน หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ ส่วนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หมู ไก่ และไข่ ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง นอกจากนี้ควรเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารและน้ำดื่ม ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ปรุงเองที่บ้าน อาหารสั่งซื้อ อาหารถุง อาหารกล่อง ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรับประทานภายใน 2- 4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ สำหรับอาหารเหลือต้องเก็บในตู้เย็นและนำมาอุ่นก่อนรับประทานใหม่ แต่หากมีรสหรือกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาดและหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก ที่สำคัญควรปฏิบัติตนให้ถูกหลักสุขอนามัย ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น