ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กยท. ผนึก8แบงก์เทสินเชื่อ 1.5หมื่นลบ. สนับสนุนผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง


 


การยางแห่งประเทศไทย ผนึก 8 แบงก์พาณิชย์ เทงบสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท เปิดโครงการสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง รับสมัครผ่าน กยท. วันนี้ – 12 กันยายน 2559
 

นายเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 อนุมัติหลักการโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท ขณะนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว โดยมีธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งร่วมดำเนินโครงการฯ         ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ธนาคารซีไอเอ็มบี จำกัด(มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SME) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้กู้สินเชื่อไปใช้ขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ณ ที่ตั้งเดิม หรือที่ตั้งใหม่ โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการร้อยละ 3 ตลอดเวลา 10 ปี (พ.ศ.2559-2569) จำนวนชดเชยดอกเบี้ยประมาณ 4,500 ล้านบาท โครงการจะช่วยให้เกิดการกู้เงิน และรับซื้อยางดิบประมาณ 60,000 ตัน   ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง  ถือเป็นงบประมาณใหม่ช่วยเหลือชาวสวนยาง

ด้าน นายพิเชฏฐ์ พร้อมมูล ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึง คุณสมบัติของผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ว่าต้อง เป็นผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ  ทั้งผลิตภัณฑ์จากน้ำยางข้น และผลิตภัณฑ์จากยางแห้งที่มีมูลค่าสูง เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม ฯลฯ และเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในประเทศไทย โดยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยมากกว่า 50%     ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ซึ่ง กยท. โดยสถาบันวิจัยยาง จะเป็นหน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ ปริมาณการใช้ยางธรรมชาติของผู้ประกอบการที่จะต้องมีมากขึ้นอย่างน้อย              4 ตัน /ปี /วงเงินกู้ 1 ล้านบาท

 ในส่วนของการอนุมัติสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ ที่ผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อผ่านโครงการฯ นั้น            จะอนุมัติสินเชื่อภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับคำขอจาก กยท. หากไม่สามารถอนุมัติได้ทันใน 60 วัน กยท. สามารถขยายระยะเวลาได้อีกไม่น้อยกว่า 30 วัน เมื่อครบกำหนดแล้ว ธนาคารจะแจ้งผลการพิจารณาสินเชื่อ  และวงเงินที่อนุมัติ ให้ กยท. ทราบภายใน 15 วัน นับจากวันที่อนุมัติ และผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อต้องทำนิติกรรมสัญญากับ กยท. และธนาคาร ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ธนาคารอนุมัติ ซึ่งผู้ประกอบการต้องเบิกจ่ายเงินกู้ ภายใน 18 เดือน  นับจากวันที่ทำสัญญา

นายพิเชฏฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ให้ยื่นคำขอ พร้อมเอกสารหลักฐานจำนวน 2 ชุด ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชนของผู้มีอำนาจลงชื่อแทนนิติบุคคล/หนังสือมอบอำนาจ สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์ หนังสือบริคณห์สนธิ สำเนาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) แผนที่ตั้งโรงงาน แผนการขยายกำลังการผลิต อุปกรณ์ เครื่องจักร อาคารและสิ่งก่อสร้าง    ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กำลังการผลิต แผนการผลิตและจำหน่าย เป็นต้น รายงานปริมาณการ                ใช้ยาง/ผลผลิต รายเดือน แยกชนิดยาง ย้อนหลัง 2 ปี โดยยื่นคำขอพร้อมเอกสารหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร               โทร. 02-579-1576 ต่อ 307 ตั้งแต่วันนี้ – 12 กันยายน 2559



 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 มี.ค. 2559 เวลา : 10:45:01

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:22 pm