วันนี้ (18 มี.ค. 59) เวลา 09.30 น. ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจอมศรี ต.จอมศรี อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่พบปะประชาชน และติดตามโครงการ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยมีนายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ข้าราชการและประชาชนรอให้การต้อนรับ
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวรายงานว่า จังหวัดอุดรธานี มีประชากร 1,574,878 คน แบ่งเขตการปกครองเป็น 20 อำเภอ ขนาดพื้นที่ 7,331,438 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 237,288 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 49.13 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด พื้นที่การเกษตร 4,575,847 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 62.41 ของพื้นที่จังหวัด พืชเศรษฐกิจได้แก่ ข้าวจ้าวและข้าวเหนียวนาปี อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และยางพารา และมีแหล่งน้ำสำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ซึ่งรองรับการผลิตน้ำประปาในเขตเทศบาลนคร และพื้นที่ชลประทานในเขตอำเภอเมือง และอำเภอกุดจับ ส่วนอ่างเก็บน้ำหนองหาน-กุมภวาปี ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานในเขตอำเภอกุมภวาปี ประจักษ์ศิลปาคม และบางส่วนของอำเภอกู่แก้ว และอำเภอหนองหาน สำหรับปัญหาสำคัญของเกษตรกร คือการขาดน้ำและระบบชลประทานสภาพพื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย ไม่กักเก็บน้ำ มีปัญหาดินเค็ม ทำให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำ ประกอบกับปัจจัยการผลิตและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเกษตรกรสูงขึ้น และราคาผลผลิตตกต่ำ ทำให้เกษตรกรมีปัญหาหนี้สิน ซึ่งเกษตรกรส่วนหนึ่งไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ดังนั้น จังหวัดอุดรธานีได้จัดให้มีการมอบหนังสืออนุญาตทำประโยชน์ในที่ดินทำกิน จำนวน 246 ราย และเอกสารโฉนด ตามโครงการมอบโฉนดที่ดินตามปณิธานความดีเทิดพระบารมีพ่อหลวง จำนวน 150 ราย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองต่อไป
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยาน การมอบโฉนดที่ดินตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดให้แก่ประชาชนจำนวน 189 ราย ของกระทรวงมหาดไทย การมอบเงินโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ปี 2558/59 ตามมาตรการที่ 4 ระยะที่ 2 จังหวัดอุดรธานี จำนวน 18 โครงการ จำนวนเงิน 8,205,954 บาท ให้แก่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าไผท และป่าโคกไม้งาม จ.อุดรธานี ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด การมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชน ให้แก่ประธานป่าชุมชนบ้านดอนกลอย และมอบบ่อน้ำบาดาล ให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียนจอมศรีพิทยาคาร ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับประชาชนว่า รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศเพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติให้เจริญเติบโตไปข้างหน้า ขณะเดียวกันได้เริ่มสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ฐานรากขึ้นมา วันนี้ทุกคนจะต้องร่วมมือกันทำให้เกิดความชัดเจนระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน และท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้สังคมมีความมั่นคง และความสงบสุข สิ่งที่สำคัญคือ เราจะต้องสร้างความเข้มแข็งไปด้วยกัน และเตรียมความพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งภายในประเทศ ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกในประเทศ ดังนั้นการเป็น “ประชารัฐ” หมายถึงประชาชนกับรัฐบาลต้องร่วมกัน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวก เปิดช่องทางให้เอกชน ประชาชน เข้ามาร่วมมือกันตามกระบวนการประชาธิปไตย พร้อมเน้นย้ำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องร่วมกันบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าไผทและป่าโคกไม้งาม จังหวัดอุดรธานี และมอบโฉนดที่ดินตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนด เป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนที่ยากไร้ เป็นนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในการประกอบอาชีพของประชาชน ส่วนการมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชน จะช่วยลดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ด้วยการจัดพื้นที่ป่า และพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสม โดยใช้แนวทางของประชารัฐมาขับเคลื่อน ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อดูแลเรื่องสิทธิที่ดินทำกินให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเป้าหมายที่วางไว้คือการจัดสรรพื้นที่กว่า 3 แสนไร่ กระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2559 ในลักษณะของแปลงรวม โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่ให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดต้องยึดประโยชน์ของชุมชนและประชาชนเป็นหลัก มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรมกับทุกคน อีกทั้งจังหวัดอุดรธานีได้ดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งการสนับสนุนปัจจัยการผลิต การขยายเวลาชำระหนี้ การส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อลดภาระความเดือดร้อนด้านรายได้ของเกษตรกร รวมทั้งมีการรณรงค์และให้ความรู้เรื่องการปลูกพืชใช้น้ำน้อยซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะประสบปัญหาภัยแล้ง รวมถึงการขุดเจาะน้ำบาดาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการนำน้ำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพทั้งการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพในระยะยาวได้นั้นคือความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ซึ่งทุกรัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมในมาตรการความเสี่ยงเหล่านี้ให้ได้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้อีก 40 เปอร์เซ็นต์ต้องสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนก่อนว่าพื้นที่ถูกบุกรุกมีเท่าไร จะหยุดการบุกรุกได้หรือไม่ ให้ประชาชนเข้าใจแนวทางการทำป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน ที่เชื่อมต่อกับป่าอนุรักษ์ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนได้ร่วมมือกันทำป่าเศรษฐกิจพร้อมกับป่าชุมชนตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทุกคนสามารถนำไม้ไปใช้ได้ รวมทั้งให้มีการปรับรูปแบบการปลูกต้นไม้รูปแบบใหม่ ไม่ให้ปลูกแล้วต้นไม้ตาย โดยประชาชนในท้องที่ต้องช่วยกันดูแลต้นไม้ ให้ข้าราชการลดการปฏิบัติหน้าที่ลงเพื่อให้งบประมาณกลับไปสู่ประชาชน และรัฐบาลจะพยายามทำทุกอย่าง จะดูมาตรการการขอคืนพื้นที่จากทั้งนายทุนและคนยากจน ซึ่งทั้งหมดจะต้องกลับเข้าสู่กระบวนการ โดยไม่ขัดแย้งกับกฎหมายหลักการทั้งหมดที่มีอยู่ และวันนี้จะต้องรักษาพื้นที่ป่าสมบูรณ์ที่มีเหลืออยู่ 102 ล้านไร่ รวมทั้งหาทางเพิ่มพื้นที่ป่าที่เกี่ยวเนื่อง กำหนดพื้นที่ปลูกป่าให้ตรงกับความต้องการ ให้มีการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำทั้งปัญหาน้ำแล้งซ้ำซากและอุทกภัยด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำว่า เป็นปัจจัยสำคัญในการทำเกษตรกรรม ดังนั้นการทำงานจึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายแบบบูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด ในการร่วมกันดูแลและเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ภัยแล้ง เช่น การสร้างฝาย “ฝายชาวบ้าน ฝายประชารัฐ” เพื่อเตรียมรับน้ำฝนในช่วงฤดูฝน และเพื่อชะลอความแรงของน้ำให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ โดยให้ 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลจัดหาอุปกรณ์และดำเนินการจัดทำฝาย โดยมีประชาชนในชุมชนเป็นกำลังหลัก และให้บูรณาการทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน อีกทั้งประเทศไทยยังได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จีนที่ปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำโขงมาเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน และยังได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่ายอีกด้วย
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งตามมาตรการของรัฐบาล ที่ได้มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรชุมชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน โดยให้เกษตรกรและชุมชนเป็นผู้กำหนดกิจกรรมขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาพื้นที่และความพร้อมของชุมชนในการรับมือภัยแล้งในอนาคต ยังเป็นการจ้างงานในชุมชน ทำให้มีช่องทางการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนที่ได้มาช่วยกันร่วมแรงร่วมใจ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรให้กับชุมชนอีกด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาทุกอย่างจะต้องเริ่มต้นจาก “ต้นทาง” คือพี่น้องเกษตรกร ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายผลิต โดยต้องศึกษาหาความรู้เชิงเทคนิคในการเพาะปลูกพืชให้มีคุณภาพ เป็น Smart Farmer ซึ่งภาครัฐจะคอยเป็นที่ปรึกษาและช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดทำโซนนิ่งพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ สภาพดิน และปริมาณน้ำ เป็นต้น ส่วน “กลางทาง” คือการแปรรูปที่ต้องใช้นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรม มาช่วยต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมูลค่ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้ในส่วนของ “ปลายทาง” มีประสิทธิภาพ โดยการสำรวจอุปสงค์อุปทาน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญสำหรับการนำสินค้าออกสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงปริมาณความต้องการและคุณภาพของผลผลิต เพื่อลดปัญหาสินค้าล้นตลาด ทำให้ราคาสินค้าตกต่ำ ซึ่งอาจจะส่งปัญหาในเรื่องรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายและกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกร
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการ BOI ได้อนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มูลค่ากว่า 17,000 ล้านบาท เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้กับเกษตรกรในการปลูกพืช ให้สามารถเข้าไปสู่วงจรห่วงโซ่คุณค่าให้ได้ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสนับสนุนและทำงานควบคู่กันไป ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้พบปะกับปราชญ์ชาวบ้าน พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการบริหารจัดการและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และนิทรรศการผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ 1) โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน 2) การบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์ภัยแล้ง 3) โครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) 4) โครงการตามมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน 5) โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง (ตำบลละ 1 ล้านบาท) 6) ผลิตภัณฑ์ OTOP ของชุมชน ก่อนออกเดินทางไปยังคลองส่งน้ำหนองมักเพื่อรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานตามโครงการสร้างรายได้และการพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งต่อไป
ข่าวเด่น