นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ประเทศไทยยังคงมีอุณหภูมิสูง ทำให้อากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยช่วงที่อากาศร้อนนี้ นอกจากโรคอุจจาระร่วง ที่พบบ่อยแล้ว โรคที่ประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษคือ โรคอาหารเป็นพิษ และการเจ็บป่วยเนื่องจากภาวะอากาศร้อน
จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-14 มีนาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 23,907 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ อำนาจเจริญ ขอนแก่น ตราด อุบลราชธานี และแม่ฮ่องสอน ตามลำดับ
โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนพิษของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส มักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ อาหารไม่สะอาด และในอาหารที่ปรุงไว้นานๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นหรือนำมาอุ่นก่อน ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อนจัด อาจทำให้อาหารบูดเสียง่ายกว่าปกติ และมักจะพบว่าเกิดจากการที่คนจำนวนมากกินอาหารร่วมกัน ที่พบได้บ่อย เช่น ในสถานศึกษา ค่ายทัศนศึกษา งานบุญ งานประเพณีต่างๆ ซึ่งเป็นการประกอบอาหารจำนวนมากและเก็บไว้นาน และทำให้มีอาการหลังจากกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคดังกล่าวอย่างรวดเร็ว สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้งกระหายนํ้า อาจมีไข้ เป็นต้น สำหรับการช่วยเหลือเบื้องต้น ทำโดยให้สารละลายเกลือแร่โอ อาร์เอส หรืออาหารเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ การป้องกันที่ดีที่สุดประชาชนควรยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า อีกโรคที่พบบ่อยในช่วงอากาศร้อนจัด บางพื้นที่อาจมีอุหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส หากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ต่อเนื่อง อาจเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อนได้ โดยเฉพาะฮีทสโตรก(Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ จากผลของสภาพอากาศที่ร้อน จะมีอาการพบได้ตั้งแต่ ปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากอากาศร้อน ดังนี้ ปี 2556 จำนวน 25 ราย, ปี 2557 จำนวน 28 ราย และปี 2558 จำนวน 56 ราย ซึ่งมีแนวโน้วสูงขึ้น โดยข้อมูลในปี 2558 นั้น ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 33 ที่สำคัญพบว่ากิจกรรมก่อนเสียชีวิตส่วนใหญ่ทำงานหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศที่ร้อน ร้อยละ 33 รองลงมาคือดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 16 สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคลมแดดได้สูงกว่าคนทั่วไปมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่อดนอน และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ประชาชนควรดูแลสุขภาพตนเอง ดังนี้ 1.สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี 2.ควรอยู่ภายในบ้านหรือในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก 3.ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ 4.สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง 5.ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก 6.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และ 7.อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และใช้เวลาที่เหมาะสม ผู้ที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ใจสั่น ตะคริว หน้ามืด ขอให้พบแพทย์หรือโทรขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ข่าวเด่น