ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมครั้งที่สองของปี 2559 ในวันที่ 23 มีนาคม 2559
ทั้งนี้ การเบิกจ่ายของภาครัฐ ที่ทำได้ค่อนข้างดี และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมาต่อเนื่อง น่าจะเพียงพอที่จะช่วยหนุนโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น รวมทั้ง ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติมของธนาคารกลางขนาดใหญ่ อาจจะส่งผลต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยมีโอกาสที่ กนง. อาจจะปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินได้ หากปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา คงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.มีความท้าทายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้น รวมทั้งความแตกต่างของจังหวะการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางขนาดใหญ่ อาทิเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น คงเป็นปัจจัยท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่างๆทั่วโลกเช่นกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจในการประชุมนโยบายการเงินของไทยในวันที่ 23 มีนาคม 2559 ดังนี้
กนง. น่าจะตัดสินใจ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ เพื่อรอประเมินพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้ง ความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆที่กระทบต่อเศรษฐกิจอีกระยะหนึ่ง โดยมีเหตุสนับสนุนหลัก 2 ประการ ดังนี้
ประการแรก มาตรการการดูแลเศรษฐกิจของภาครัฐในปัจจุบันน่าจะเพียงพอที่จะช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้าได้ หากไม่มีเหตุการณ์ใหม่ๆเพิ่มเติมที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐยังคงทำได้ค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายงบลงทุนที่เร่งตัวขึ้น รวมทั้ง การใช้งบกลางในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ และมาตรการบรรเทาผลกระทบของเกษตรกร น่าจะช่วยประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ได้ในระดับหนึ่ง
ประการที่สอง การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมในช่วงเวลาที่ตลาดเงินและตลาดทุนยังคงมีความผันผวนสูง อาจลดทอนประสิทธิภาพในการส่งผ่านผลของนโยบายดังกล่าวไปสู่ภาคเศรษฐกิจ โดยแม้ว่าทางการไทยจะยังมีความยืดหยุ่นที่จะสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มได้อีก แต่คงต้องยอมรับว่าพื้นที่ในการดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจจะเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น หากมีการเร่งรีบใช้นโยบายการเงินกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรวดเร็วเกินไป ท่ามกลางสภาวะที่ตลาดเงินและตลาดทุนมีความผันผวนสูง ซึ่งจะทำให้ผลของการดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้น การเลือกคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบัน และเก็บทางเลือกของการลดดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อใช้ในจังหวะที่จำเป็น คงน่าจะมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ กนง. กำลังเผชิญในการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบัน
การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด อาจเปิดโอกาสให้ กนง. สามารถดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งนี้ การที่เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25-0.50% ในการประชุมเฟดเดือน มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่เฟดได้มีการปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 4 ครั้งเหลือเพียง 2 ครั้งในปี 2559 นี้ อันเป็นการบ่งชี้ถึงเส้นทางในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่เลื่อนออกไป ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการส่งสัญญาณถึงการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของเฟด คงจะทำให้ กนง. มีความยืดหยุ่นมากขึ้นที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มได้อีกในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความอ่อนแอมากกว่าที่คาดไว้ ท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม อาทิเช่น ความก้าวหน้าของการส่งออก รวมถึงประเด็นเรื่องภัยแล้ง สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ
สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องจับตา คงได้แก่ บริบทการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่างๆ รวมทั้ง ทิศทางของเงินบาท โดยต้องยอมรับว่า ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างอ่อนแรง อาจส่งผลให้ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศพิจารณาถึงการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม ตามธนาคารกลางขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากธนาคารกลางในภูมิภาคผ่อนคลายการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมในอนาคต ย่อมจะส่งผลกระทบต่อทิศทางของกระแสเงินทุนในภูมิภาครวมทั้งไทยได้ โดยหากพิจารณาถึงดัชนีค่าเงินบาท (THB NEER) ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า ซึ่งคงเป็นอีกปัจจัยที่ทางการคงจับตาอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนเคลื่อนไหวในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจโดยรวม
ข่าวเด่น