กระทรวงสาธารณสุขไทย จับมือกระทรวงการต่างประเทศ และองค์กรนานาชาติ จัดทำ “หลักการกรุงเทพ” ดำเนินการด้านสุขภาพตามกรอบปฏิญญาเซนได ลดภาวะเสี่ยงต่อภัยพิบัติปี 2558-2573 ทั้งจากภัยธรรมชาติ โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เน้นบูรณาการประเด็นด้านสุขภาพไว้ในแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ และแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างและเครื่องมืออุปกรณ์การช่วยเหลือชีวิต เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสถานบริการสาธารณสุข จะคงความสามารถในการดูแลประชาชนในภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัย
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จาการที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) และองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดการประชุมการดำเนินการสาธารณสุขตามกรอบการดำเนินงานเซนได เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ. 2558-2573 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนรัฐบาลจากประเทศต่างๆ เจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆกว่า 200 คน เพื่อแสวงหาแนวทางการรับมือต่อสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการสาธารณสุขที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ภัยพิบัติจากธรรมชาติ การระบาดของโรคติดต่อ เช่น เชื้อไวรัสซิกา และอีโบลา แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์การเตรียมความพร้อมและรับมือกับภัยพิบัติ โรคระบาด รวมถึงการสรุปบทเรียนทั้งความสำเร็จและที่ควรปรับปรุงแก้ไข เสนอแนวปฏิบัติที่ดี (good practice) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ บนพื้นฐานของกรอบการดำเนินงานตามปฏิญญาเซนได ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติเมื่อมีนาคม พ.ศ.2558
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า ไม่มีใครรู้ว่าภัยพิบัติข้างหน้าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด และภัยพิบัติยังมีผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ของประชาชน และสภาพเศรษฐกิจสังคม หากไม่มีการเตรียมพร้อมการบริหารจัดการที่ดี ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องบูรณาการประเด็นด้านสุขภาพเข้าไว้ในแผนยุทธศาสตร์และนโยบาย ด้านการลดความเสี่ยงจากภาวะภัยพิบัติของประเทศ และแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข ต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างดี ในการยกระดับและสร้างเสริมศักยภาพด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้านสุขภาพ โดยให้ภาคราชการและภาคเอกชน ลงทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
ด้านโครงสร้างและเครื่องมืออุปกรณ์การช่วยเหลือชีวิตของสถานบริการสาธารณสุข เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสถานบริการสาธารณสุขจะคงความสามารถในการดูแลประชาชนในภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัย โดยทุกภาคส่วนทุกระดับ ทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับสังคมโลก จำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการระบาดใหญ่ของโรคติดต่อรวมทั้งโรคอุบัติใหม่ ประสบผลสำเร็จและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผลการประชุมในครั้งนี้ ทำให้ได้ “หลักการกรุงเทพ” เพื่อการดำเนินการด้านสุขภาพตามกรอบปฏิญญาเซนไดเรื่องการลดภาวะเสี่ยงต่อภัยพิบัติปี 2558-2573 (Bangkok Principles for the Implementation of the health aspects of the Sendai Framework for Disaster Risk Reduction 2015 – 2030 ) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนและส่งเสริมประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ในการดำเนินงานด้านสาธารณภัย ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวเด่น