ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมควบคุมโรคเตรียมนำร่องสถานบริการสุขภาพปลอดการตีตราฯใน 13 จังหวัด


 



นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การตีตรา และการเลือกปฏิบัติในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการตีตราและการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเอดส์ยังคงมีอยู่จริงในสังคม และในหลายกรณีนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน  ซึ่งกรมควบคุมโรค ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบดูแลป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคีเครือข่ายจะต้องช่วยกันขจัดปัญหาการตีตราและการเลือกปฏิบัติ หากจะมุ่งเป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ให้ได้
           
 
 
สำหรับมาตรการและการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ในแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ.2557–2559 แบ่งได้เป็น 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการในเชิงการป้องกันการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ และมาตรการการปกป้องคุ้มครองสิทธิเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเอดส์  โดยมาตรการที่ 1 การป้องกันการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและการเลือกปฏิบัติในทุกระดับของสังคม เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับเอดส์ ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ดำเนินการไปแล้ว 2 เรื่อง คือ
          
1.การส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐเป็นตัวอย่างในการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน ภายใต้แนวคิดองค์กร “ดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์” โดยในปีที่ผ่านมา(ปี 2558) มีองค์กรภาครัฐประมาณ 100 องค์กรที่สมัครเข้าร่วมดำเนินงาน สำหรับในปี 2559 ได้ขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐเพิ่มอีก โดยมีเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐในทุกจังหวัดประกาศนโยบายขององค์กรว่าจะ “ไม่ใช้สถานะการติดเชื้อ    เอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการคัดเลือก/รับบุคลากรเข้าทำงาน หรือการเลิกจ้างบุคลากรที่ติดเชื้อเอชไอวี และดูแลคนในองค์กรให้ปลอดภัยจากเอดส์ รวมทั้งส่งเสริมให้อยู่ร่วมกันกับ ผู้มีเชื้อเอชไอวีได้อย่างปกติในที่ทำงาน”
            
2.การสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและลดการเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ เพราะสถานบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานที่ให้บริการใกล้ชิดผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการให้บริการที่ปราศจากการตีตราและการเลือกปฏิบัติ โดยในปีงบประมาณ 2559 นี้ จะนำร่อง 13 จังหวัดในพื้นที่ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 13 แห่ง
            
นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการที่ 2 การปกป้องคุ้มครองสิทธิเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเอดส์  ขณะนี้มีกลไกการคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ในเชิงนโยบาย คือ คณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ที่จะดำเนินการเมื่อมีการร้องเรียนการละเมิดสิทธิเกี่ยวกับเอดส์ขึ้นมา และยังมีหน่วยงานอื่นที่ดูแลปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับเอดส์ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น ที่ผ่านมาภาคประชาสังคม ได้แก่ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการปกป้องคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และในปี 2559 กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานข้างต้น ดังนี้
          
1.ขับเคลื่อนการจัดวางโครงสร้างการคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ในคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ทุกจังหวัด โดยจะนำรูปแบบและบทเรียนจากการทำงานของภาคประชาสังคมและการจัดทีมแก้ไขปัญหาของคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์มาเป็นแนวทางสำหรับให้จังหวัดนำไปประยุกต์ใช้
          
2.จัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับปกป้องคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ให้กับหน่วยงานที่เป็นจุดรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้น ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มีสายด่วนรับเรื่องร้องเรียน และมีหน่วยงานในสังกัดดำเนินการเมื่อเกิดการร้องเรียน เช่น กรณีหากมีการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ในเด็กหรือนักเรียน/นักศึกษา กรณีการละเมิดสิทธิโดยการให้ออกจากงาน กรณีไม่ให้บริการสุขภาพหรือจัดบริการโดยเลือกปฏิบัติ เป็นต้น
        
 ทั้งนี้ การสร้างสภาวะแวดล้อมเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะดำเนินงานโดยลำพังไม่ได้ ต้องขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายร่วมกันให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคมว่า เอดส์ไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ติดต่อกันได้ง่าย สามารถอยู่ร่วมกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีได้  กรมควบคุมโรคขอเชิญชวนให้ทุกคนเปิดใจ ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ตระหนักและช่วยกันยุติการเลือกปฏิบัติมุ่งสู่เป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
 

บันทึกโดย : วันที่ : 20 มี.ค. 2559 เวลา : 14:39:28

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:11 am