นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไสว่าสิบ่โกงกิน ? รัฐบาลระบายข้าวให้อุตสาหกรรมและขายข้าวจีทูจีโปร่งใสจริงหรือ ?
ในฐานะปุถุชนคนหนึ่งผมขอยอมรับตรงๆว่ารู้สึกหงุดหงิดและผิดหวังกับการบริหารเศรษฐกิจการค้าของรัฐบาลชุดปัจจุบันค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องข้าวและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวนาชาวสวนชาวไร่ซึ่งตกตํ่าลงมากในช่วง 1-2 ปีนี้
เรื่องที่เห็นชัดๆ เช่น ทั้งๆที่ชาวนาทำนาได้น้อย ผลผลิตตกต่ำ ยังปล่อยให้ราคาข้าวตกตํ่าลงอย่างต่อเนื่อง การส่งออกข้าวก็ลดตํ่าลงทั้งราคาและปริมาณ แทนที่รัฐบาลจะวางแผนแก้ปัญหาร้ายแรงนี้กลับเสียเวลาหาข้อแก้ตัวว่าเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าทั้งโลก
ปัญหาคาใจของผมในช่วงนี้คือเรื่องการระบายข้าวในสต็อครัฐบาลกว่า 10 ล้านตันบางส่วนให้อุตสาหกรรมและการขายข้าวแบบจีทูจีให้จีน ซึ่งมีพิรุธหลายประการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่น่าจะสวนทางกับนโยบายปราบโกงและบริหารประเทศอย่างโปร่งใส ผมขอสรุปประเด็นคำถามเพื่อให้ทุกฝ่ายช่วยกันค้นหาคำตอบและเพื่อหาทางปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ดังนี้
1. การระบายข้าวเสื่อม(ข้าวเกรดC)ให้อุตสาหกรรมที่ผ่านมาและที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้รวม 3 ล็อต ล็อตแรกเมื่อ ธ.ค.2558 จำนวน 37,412 ตัน ล็อตที่สองเมื่อ ก.พ.2559 จำนวน 221,375 ตัน และล็อตที่สามกำลังจะเปิดประมูลปลายเดือนนี้จำนวน 223,762 ตัน มีพิรุธที่ส่อว่าจะเปิดช่องทุจริตและดำเนินการอย่างโปร่งใสจริงหรือไม่ ?
1.1 ทำไมการประมูลข้าวเสื่อมทั้ง 3 ล็อต จึงจำกัดเฉพาะอุตสาหกรรมบางประเภทเท่านั้น ทำไมไม่เปิดประมูลทั่วไป ? (ถ้าเปิดประมูลทั่วไปจะขายได้ราคาสูงกว่ามาก เช่นข้าวสารเจ้า5%ถ้าเปิดประมูลเฉพาะโรงงานปุ๋ยและโรงงานไฟฟ้าจะได้ตันละ 4,200-5,200 บาท ถ้าเปิดให้โรงงานอาหารสัตว์ร่วมประมูลด้วยจะขายได้ตันละ 7,000-8,000 บาท แต่ถ้าเปิดประมูลทั่วไปโดยไม่จำกัดจะได้ตันละ 11,000-12,000 บาท) มีหน่วยงานใดตรวจสอบและยืนยันว่าข้าวเสื่อมหรือข้าวเกรดซีไม่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารมนุษย์หรือสัตว์ได้หรือไม่ ? ทำไมการประมูลข้าวล็อตที่สองจึงเปิดให้โรงงานอาหารสัตว์เข้าร่วมประมูลด้วยแตกต่างจากการประมูลล็อตแรก ?
1.2 รัฐบาลมีความมั่นใจเต็มที่หรือไม่ว่าได้ตรวจสอบคุณภาพข้าวอย่างถูกต้องโดยละเอียดทุกกอง(กองละประมาณ 20,000 กระสอบ) ? รัฐบาลมั่นใจหรือไม่ว่ากองข้าวแต่ละกองที่ผลตรวจสอบแบบสุ่มตรวจเป็นข้าวเสื่อม(ข้าวเกรดC1 หรือ C2 หรือ C3)เหมือนกันหมดทั้งกองทุกกระสอบหรือเป็นส่วนใหญ่ ? (ถ้ามีข้าวดีปนข้าวเสื่อมรัฐก็จะเสียประโยชน์เพราะขายข้าวในราคาต่ำ ส่วนผู้ได้ประโยชน์ก็คือเจ้าของโรงงานที่ชนะประมูล)
1.3 ถ้าระบายข้าวและตรวจสอบคุณภาพอย่างถูกต้องและโปร่งใสจริง ทำไมรัฐบาลจึงห้ามหรือกีดกันไม่ให้เซอร์เวเยอร์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตรวจสอบคุณภาพข้าวและเป็นคู่สัญญากับรัฐบาล มีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณภาพข้าวและเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการส่งมอบข้าวที่ขายให้อุตสาหกรรมด้วย ?
2. การขายข้าวแบบจีทูจีให้จีน ก็มีหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติชวนสงสัยว่าจะเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)จริงหรือไม่ และน่าจะมีพิรุธส่อว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่พ่อค้าเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ?
2.1 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตัวจริงทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายทำหน้าที่ในฐานะของรัฐบาล( Government= G)จริงหรือไม่ ? (ฝ่ายจีนดำเนินการโดยบริษัท COFCO Corporation ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีนแต่ได้แปรสภาพเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อข้าวในลักษณะของการทำธุรกิจปกติทั่วไปคือซื้อข้าวไทยไปบรรจุถุงขายแข่งขันกับเอกชนและวิสาหกิจอื่นๆตามปกติ ดังนั้น COFCO จึงเข้มงวดเรื่องคุณภาพเช่น ต้องส่งมอบข้าวฤดูใหม่เท่านั้น (รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันไม่มีข้าวใหม่เพราะได้ยกเลิกโครงการรับจำนำแล้ว) นอกจากนี้ COFCO ยังต่อรองซื้อข้าวไทยในราคาตํ่าอีกด้วย
ส่วนฝ่ายไทยดำเนินการโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งเป็นผู้จัดสรรโควต้าข้าวที่ขายให้สมาชิกของสมาคม โดยไม่ได้ขายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลหรือข้าวของพ่อค้ากลุ่มอื่นเช่นโรงสีแต่อย่างใด)
2.2 ในขณะที่ผู้ส่งออกได้รับประโยชน์จากการขายข้าวโดยมีรัฐบาลเป็นประกัน แต่รัฐบาลนอกจากจะเสียโอกาสในการขายข้าวของรัฐบาลเองแล้วยังอาจถูกฝ่ายจีนใช้อ้างให้รัฐบาลไทยลดเงื่อนไขหรือเพิ่มราคาสร้างรถไฟความเร็วสูงอีกด้วย ในกรณีนี้ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์กันแน่ ?
รัฐบาลชุดนี้ชูนโยบายปราบโกงมาตั้งแต่เริ่มต้น จึงควรจัดการระบายข้าวอย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ทั้งในเรื่องการตรวจสอบคุณภาพ การเปิดประมูลและการขายแบบจีทูจี ไม่ควรทำแบบปิดประตูตีแมวและมัดมือชกนะครับ
ข่าวเด่น