สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สดร.) เผย 22 มีนาคมนี้ ดาวหางแพนสตารส์ (P/2016 BA14) โคจรมาเฉียดโลกที่สุดในรอบกว่าสองร้อยปี ห่างเพียง 3.4 ล้านกิโลเมตร ความสว่างปรากฏที่แมกนิจูด 12 มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ช่วยสังเกตการณ์ ย้ำไม่พุ่งชนโลกและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับโลก เตรียมพร้อมใช้กล้องโทรทรรศน์ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 22 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 23:00 น. ดาวหางแพนสตารส์ (P/2016 BA14) จะโคจรเข้ามาเฉียดใกล้โลกที่สุด ที่ระยะห่างประมาณ 3.4 ล้านกิโลเมตร นับเป็นดาวหางที่โคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 246 ปี ช่วงที่ดาวหางดวงนี้เฉียดเข้าใกล้โลกที่สุด จะปรากฏบริเวณกลุ่มดาวหมีใหญ่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าความสว่างปรากฏแมกนิจูด 12 ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า (ความสว่างปรากฏที่ตามนุษย์สามารถมองเห็นได้มีค่าต่ำกว่าแมกนิจูด 6) เตรียมใช้กล้องโทรทรรศน์ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติในโครงการเฝ้าระวังวัตถุจากนอกโลก ติดตามเก็บข้อมูลและสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด
“แม้ว่าจะเป็นดาวหางที่โคจรเข้ามาใกล้โลกที่สุดในรอบกว่าสองร้อยปี แต่ก็นับว่าอยู่ไกลจากโลกมากประมาณ 9 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ ดาวหางดวงนี้จึงไม่มีโอกาสที่จะพุ่งชนโลก และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ ต่อโลกและมนุษย์ และด้วยเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์ในปัจจุบันสามารถตรวจจับและคำนวณได้ล่วงหน้า นอกจากนี้การทำงานแบบเครือข่ายของหอดูดาวทั่วโลกที่มีภารกิจในการเฝ้าระวังภัยจากวัตถุนอกโลกยังช่วยให้การตรวจจับวัตถุต่างๆ ที่เข้ามาใกล้โลกมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ดร. ศรัณย์กล่าว
ระยะแรกของการค้นพบดาวหางดวงนี้ กล้องโทรทรรศน์แพนสตารส์ ซึ่งใช้ปฏิบัติภารกิจการสำรวจดาวเคราะห์น้อย ได้ค้นพบวัตถุที่คาดว่าเป็นดาวเคราะห์น้อย จึงตั้งชื่อว่า 2016 BA14 แต่หลังจากติดตามและศึกษาข้อมูลของวัตถุนี้ พบว่ามีวงโคจรคล้ายดาวหาง นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา จึงใช้กล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวโลเวลล์ตรวจสอบดู และยืนยันว่าวัตถุนี้เป็นดาวหาง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น P/2016 BA14 นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าดาวหาง P/2016 BA14 เป็นดาวหางที่มีคาบการโคจรใกล้เคียงกับดาวหาง 252P/LINEAR ที่ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งดาวหาง252P/LINEAR มีคาบการโคจร 5.32 ปี ส่วน ดาวหาง P/2016BA14 มีคาบการโคจร 5.25 ปี
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ภายใต้หน่วยงาน NASA's Center of NEO Studies (CNEOS) ได้ให้ความเห็นว่า ดาวหาง P/2016BA14 อาจเป็นชิ้นส่วนที่แตกออกมาจาก 252P/LINEAR ซึ่งขนาดใหญ่และสว่างกว่า มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 230 เมตร และจะโคจรผ่านโลกไปก่อนด้วยระยะห่างประมาณ 5.2 ล้านกิโลเมตร ในวันที่ 21 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 19:14 น. ตามเวลาประเทศไทย นักดาราศาสตร์จึงวางแผนใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลในการเก็บข้อมูลดาวหาง 252P/LINEAR และใช้กล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นวิทยุและอินฟราเรดเก็บข้อมูลของ P/2016BA14 ช่วงที่โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยดังกล่าว
ในอดีตที่ผ่านมา ดาวหางที่เข้ามาเฉียดใกล้โลกที่สุดเป็นอันดับ 1 เท่าที่มีข้อมูลยืนยัน ได้แก่ ดาวหางเล็กเซลล์ ค้บพบโดย ชาร์ล เมซิเย นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ดาวหางเล็กเซลล์เข้ามาเฉียดใกล้โลกที่สุด เมื่อ 246 ปีที่แล้ว ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2313 ที่ระยะห่างเพียง 2.2 ล้านกิโลเมตร การโคจรเข้ามาเฉียดโลกของดาวหางแพนสตารส์ (P/2016 BA14) ในวันที่ 22 มีนาคม 2559 นี้ จึงนับว่าเป็นการเข้ามาใกล้โลกที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประวัติศาสตร์การเข้ามาเฉียดโลกของดาวหาง ที่ระยะทาง 3.4 ล้านกิโลเมตร
ภาพถ่ายดาวหาง P/2016BA14 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2559 จากกล้องโทรทรรศน์ 0.7 เมตร หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ขณะกำลังเคลื่อนที่ผ่านกลุ่มดาวสุนัขใหญ่มุ่งหน้าสู่กลุ่มดาวม้าเขาเดียว ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (มุมล่างขวาไปยังด้านบนซ้าย) จากภาพ ดาวหางปรากฏลักษณะเป็นเส้น แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ที่เป็นฉากหลัง แต่ละเส้นใช้เวลาถ่ายห่างกันหนึ่งนาที พื้นที่ในภาพมีขนาดประมาณ 10X10 อาร์คนาที ขณะถ่ายภาพ ดาวหาง P/2016BA14 มีความเร็วประมาณ 20 อาร์ควินาที/นาที เคลื่อนที่จากมุมล่างขวาไปยังด้านบนซ้ายใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
ข่าวเด่น