หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำวันที่ 22 มี.ค. 2559
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มหลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง มีแนวโน้มปรับลดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา
+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังบริษัท Genscapeคาดการณ์ตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปิด ณ สัปดาห์ก่อนหน้าประจำวันที่ 18 มี.ค. ปรับตัวลดลงราว 570,574 บาร์เรล แตะระดับ 69.05 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตัวเลขยังคงสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จากรอยเตอร์ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังจะปรับเพิ่มขึ้นราว 3ล้านบาร์เรล
-ราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันหลังผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil producers) อาทิ Oasis Petroleum และ Pioneer Natural Resourcesยังคงทำการเพิ่มจำนวนหลุมขุดเจาะแบบไม่เสร็จสมบูรณ์(Uncompletedwells(DUCs))เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการเตรียมผลิตน้ำมันดิบเพิ่มหากราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงระดับจุดคุ้มทุน
-อย่างไรก็ตาม บริษัททั้งสองมีแนวโน้มที่จะเปิดดำเนินการหลุมขุดเจาะได้ทุกเวลา เนื่องจากได้มีการทำประกันความเสี่ยงด้านราคา (Hedging)สำหรับปี 2559 ไว้ในระดับสูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน อาทิ บริษัท Oasis Petroleum ทำประกันราคาขายของน้ำมันดิบราวร้อยละ 70 ไว้ที่มากกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเป็นต้น ทั้งนี้ จำนวนหลุดขุดเจาะที่เพิ่มขึ้นประกอบกับแนวโน้มที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้นได้ทุกเมื่อ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดยังคงมีความผันผวน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีความต้องการใช้เพิ่มเติมจากประเทศศรีลังกาและแทนซาเนีย ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันในไต้หวันได้ทำการปิดซ่อมบำรุงในเดือนนี้ซึ่งส่งผลทำให้การส่งออกจากโรงกลั่นดังกล่าวปรับตัวลดลงร้อยละ 50
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากระดับปริมาณน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานในประเทศสิงคโปร์ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 5ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 13.254ล้านบาร์เรล ถึงแม้ว่าในช่วงนี้จะมีหลายโรงกลั่นน้ำมันปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาลก็ตาม
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ36-42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ38-44เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
การตอบรับของตลาดต่อความคืบหน้าของการประชุมนัดพิเศษระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบในและนอกกลุ่มโอเปกที่จัดขึ้นในวันที่ 17 เม.ย.นี้เพื่อหารือถึงการตรึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับการผลิตในเดือน ม.ค. โดยมีผู้ผลิตน้ำมันดิบกว่า 15 ประเทศเข้าร่วมการประชุม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 73 ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบของโลก
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงและกดดันราคาน้ำมันดิบน้อยลง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับเดิมจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ทั้งปีนี้ Fed คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เพียงแค่ 2ครั้งจากแผนเดิมที่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 4ครั้งในปีนี้
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA)รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ (สิ้นสุด ณ วันที่ 11มี.ค.) แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 523.2ล้านบาร์เรล
โดย หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ ประจำวันที่ 22 มี.ค. 2559
ข่าวเด่น