กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำชัดร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ... ฉบับใหม่ เป็นการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน โดยคำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่อย่างยั่งยืน
นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แถลงว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... และเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... แล้วนั้น เหตุผลสำคัญในการยกร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... นี้ เพื่อเป็นการปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยแร่ หรือพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2509 ซึ่งใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุง โดยนำหลักการของกฎหมายทั้งสองฉบับมาบัญญัติรวมไว้ในฉบับเดียวกัน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรแร่และการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่เป็นไปอย่างมีระบบ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... นี้ ได้คำนึงถึงบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งได้นำบทเรียน ปัญหา และอุปสรรคของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอดีต พร้อมทั้งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคประชาชน มาเป็นกรอบในการกำหนดหลักเกณฑ์อย่างครบถ้วน โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... ที่แตกต่างจากพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ได้แก่
1. กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่อย่างเป็นระบบและมีการวางแผนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยกำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการแร่ และต้องปรับปรุงข้อมูลทุก 15 ปี รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบ ตลอดจนผูกพันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามที่กำหนดในแผนแม่บทดังกล่าว
2. กำหนดให้มีการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการแร่และส่งเสริมให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่ โดยแก้ไขอำนาจในการออกประทานบัตร จากเดิมที่เป็นอำนาจการอนุญาตของรัฐมนตรีให้เป็นการอนุญาตในรูปแบบของคณะกรรมการ และแบ่งการทำเหมืองออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การทำเหมืองประเภทที่ 1 เป็นเหมืองขนาดเล็ก ให้เป็นอำนาจการอนุญาตของคณะกรรมการแร่จังหวัด การทำเหมืองประเภทที่ 2 เป็นเหมืองขนาดกลาง และการทำเหมืองประเภทที่ 3 เป็นเหมืองขนาดใหญ่ ให้เป็นอำนาจการอนุญาตของคณะกรรมการแร่ในส่วนกลาง ซึ่งการกำหนดเหมืองแร่แต่ละประเภทจะคำนึงถึงพื้นที่ ชนิดแร่ ลักษณะทางธรณีวิทยา วิธีการทำเหมือง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ คณะกรรมการแร่แต่ละคณะจะมีผู้แทนจากองค์กรเอกชนและองค์กรชุมชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแร่ด้วย และในขั้นตอนการขอสิทธิทำเหมืองแร่จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อให้เกิดดุลยภาพระหว่างการประกอบการอุตสาหกรรมแร่กับการคุ้มครองรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น
3. กำหนดให้การพิจารณาอนุญาตของรัฐมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้และเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ ผู้แทนองค์กรเอกชนและผู้แทนองค์กรชุมชนซึ่งเป็นตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียภาคประชาสังคม และประธานสภาการเหมืองแร่หรือผู้แทนซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการ เข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการแร่และคณะกรรมการแร่จังหวัด ซึ่งทำให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจของภาครัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่และสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น
4. กำหนดให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรแร่ให้ชุมชนท้องถิ่นอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรผลประโยชน์ให้กับท้องถิ่นซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งการสำรวจแร่และพื้นที่ตั้งการทำเหมืองแร่ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงที่ติดต่อกับเขตเหมืองและได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง โดยแบ่งเป็นเงินผลประโยชน์พิเศษตอบแทนแก่รัฐที่เรียกเก็บจากผู้ยื่นคำขอสำรวจแร่ตามอาชญาบัตรพิเศษและการขอประทานบัตร ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐกรณีรัฐได้นำพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจออกประมูล และเงินค่าภาคหลวงแร่ จัดสรรตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ ได้มีการปรับปรุงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่รัฐจะเรียกเก็บตามกฎหมายแร่ให้สูงขึ้น 100 เท่าจากอัตราตามกฎหมายปัจจุบัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
5. กำหนดให้มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรมแร่ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการทำเหมืองต้องมีการวางหลักประกันหรือการจัดตั้งกองทุนการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมือง เพื่อเป็นการวางแผนป้องกันไว้ล่วงหน้า หากเกิดปัญหาผู้ทำเหมืองไม่เยียวยาหรือไม่ฟื้นฟูพื้นที่รัฐจะนำเงินจากกองทุนหรือหลักประกันมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
นอกจากนี้ กำหนดให้มีหลักความรับผิดชอบทางแพ่งอย่างชัดเจน โดยกำหนดให้รัฐมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเชิงลงโทษจากผู้ทำเหมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองในเขตห้ามทำเหมือง นอกเหนือจากความรับผิดทางอาญาแล้ว ยังต้องรับผิดทางแพ่งเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าแร่ที่ได้จากการทำเหมืองในบริเวณนั้น
6. กำหนดบทลงโทษให้สูงขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการฝ่าฝืนกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยปรับปรุงบทลงโทษทางอาญาในเรื่องของโทษปรับให้สูงขึ้น 30 เท่าจากกฎหมายในปัจจุบัน
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... ฉบับนี้ ให้ความสำคัญกับภาคประชาชนเป็นอย่างมากในการส่งเสริมสนับสนุนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศอย่าง เป็นระบบ ตั้งแต่การจัดทำแผ่นแม่บทบริหารจัดการแร่ การอนุญาต การกำกับดูแล และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการ โดยมุ่งหวังให้ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... นี้ เป็นการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชาชน โดยคำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่อย่างยั่งยืนต่อไป
ข่าวเด่น