วันนี้ (23 มีนาคม 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากปัจจัยสภาพอากาศที่ร้อน ขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังโรคพิษสุนัขบ้า โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากอยู่บ้านเล่นกับสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ให้ระมัดระวังอาจถูกกัดหรือข่วน รวมถึงไม่ไปแหย่สุนัขไม่มีเจ้าของ จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 1 มีนาคม 2559 พบผู้ป่วย 3 ราย จาก 3 จังหวัด เสียชีวิตทั้ง 3 ราย จังหวัดที่พบผู้เสียชีวิตคือ ระยอง สมุทรปราการ และ สงขลา
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากการถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วน ซึ่งผู้เสียชีวิตไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือรับการฉีดวัควีนไม่ครบชุด และไม่มีการล้างแผลหรือปฐมพยาบาลก่อนพบแพทย์ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสโรคมากที่สุด และแม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะพบผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 10 รายต่อปี แต่ยังมีการพบเชื้อในสัตว์เป็นจำนวนมาก
โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ ที่เกิดได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว เป็นต้น แต่ในประเทศไทยมักพบในสุนัขมากที่สุด การติดเชื้อจะเกิดจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสเรบี่ส์กัด ข่วน หรือน้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือบาดแผลตามร่างกาย เชื้อจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นบริเวณที่โดนกัดหรือข่วน จากนั้นจะเข้าสู่ระบบประสาท
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งเกิดอาการของโรค ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์ แต่อาจสั้นเพียงแค่ 7 วันหรือยาวเกินกว่า 1 ปี ส่วนอาการของโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มจาก 2-3 วันแรกผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผลและลำตัว ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ และกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด
ด้านการป้องกันโรค ขอแนะนำให้ระมัดระวังการสัมผัสสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะลูกสุนัข และเฝ้าระวังเด็กๆ ไม่ให้เล่นกับสัตว์ที่ไม่คุ้นเคย นอกจากนี้ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี ที่สำคัญต้องขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง และเลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบ และรู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วย คาถา 5 ย. “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่ง กับสุนัขที่ไม่ปรากฏเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ” จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
ขอเชิญชวนให้ประชาชนนำสุนัขและแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากโดนสุนัขหรือแมวกัด ควรรีบล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หลายๆครั้ง แล้วเช็ดแผลให้แห้งและใส่ยาฆ่าเชื้อ และรีบไปพบแพทย์ โรคพิษสุนัขบ้านั้นไม่มีทางรักษาให้หายได้ หากติดเชื้อและมีอาการแล้ว จะเสียชีวิตทุกราย
ดังนั้นหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน และให้ช่วยกันจับอย่างระมัดระวังอย่าให้ถูกกัดหรือข่วน จากนั้นกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตายให้นำหัวสัตว์หรือตัวสัตว์ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ต่อไป หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น