วันนี้ (23 มีนาคม 2559) สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แถลงผลความคืบหน้าการแก้ปัญหาโฆษณาอาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ซึ่งมีการติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังการออกอากาศรายการหรือโฆษณาที่เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค การดำเนินการทางกฎหมาย จับกุมปราบปราม การรณรงค์ผ่านสื่อร่วมกันตลอด 4 ปีที่ผ่าน โดยมีนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค และเภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เป็นผู้แถลงความคืบหน้าการดำเนินงานดังกล่าวและมีผู้ประกอบการสื่อเข้าร่วมงานกว่า 100 คน
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ติดตาม ตรวจสอบเฝ้าระวังการออกอากาศรายการหรือโฆษณาที่เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น รายการหรือโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ การโฆษณาสินค้าความเชื่อ สารเคมีทางการเกษตร การโฆษณาหลอกลวงเกินจริง ทั้งกรณีมีข้อร้องเรียนจากเครือข่ายผู้บริโภค จากประชาชนทั่วไป รวมทั้งที่สำนักงาน อย. และกสทช. ติดตามตรวจสอบพบเอง ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ล โทรทัศน์ในระบบดิจิตอล และวิทยุกระจายเสียง ซึ่งปีที่ผ่านมาตรวจพบโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย 52 รายการ สารเคมีทางการเกษตร 5 รายการ และเครื่องรางของขลังหรือสินค้าความเชื่อต่างๆ 8 รายการ โทรทัศน์ในระบบดิจิตอลมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย 19 รายการ สารเคมีทางการเกษตร 2 รายการ และเครื่องรางของขลังหรือสินค้าความเชื่อต่างๆ 3 รายการ ส่วนวิทยุกระจายเสียงพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย 33 รายการ และมีเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามาในกรณีดังกล่าวทางโทรทัศน์ 4 ราย วิทยุ 14 รายด้วย
ปีที่ผ่านมา กสท.ได้วางแนวทางการกำกับดูแลไว้อย่างเป็นระบบและชัดเจนขึ้น อย. รายงานว่าผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ฯออกอากาศโฆษณา อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย จะมีคำสั่งให้ระงับการโฆษณาดังกล่าวและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ที่มีลักษณะความผิดเหมือนกัน หากยังฝ่าฝืนจะมีโทษปรับวันละ 2 หมื่นบาท หากยังฝ่าฝืนจะพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 7 วัน และขั้นต่อไปคือ การเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง/โทรทัศน์รายนั้นๆ
นอกจากนี้ กสท.ได้กำหนดค่าปรับทางปกครอง สำหรับผู้รับใบอนุญาตที่ฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ในกรณีการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย คือ วิทยุทดลองประกอบกิจการปรับ 5 หมื่นบาท หากฝ่าฝืนปรับวันละ 5 หมื่นบาทต่อวัน วิทยุหลักปรับ 1 แสนบาท หากฝ่าฝืนปรับวันละ 1 แสนบาทต่อวัน โทรทัศน์ดาวเทียม/เคเบิ้ล ออกอากาศระดับท้องถิ่น /ภูมิภาค ปรับ 2 แสนบาทหากฝ่าฝืนปรับวันละ 1 แสนบาทต่อวัน
ส่วนที่ออกอากาศระดับชาติ ปรับ 5 แสนบาท หากฝ่าฝืนปรับวันละ 1 แสนบาทต่อวัน และโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลปรับ 1 ล้านบาท หากฝ่าฝืนปรับวันละ 1 แสนบาทต่อวัน และหากมีคำสั่งไปยังผู้รับใบอนุญาตที่กระทำผิดแล้ว สนง. กสทช.จะแจ้งโครงข่ายทราบ เพื่อระงับการเผยแพร่ หากช่องรายการดังกล่าวยังคงเผยแพร่ โครงข่ายต้องรับผิดชอบและมีความผิดด้วย หากเป็นโครงข่ายสำหรับดาวเทียมและเคเบิ้ลในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค ปรับ 2 แสนบาท หากฝ่าฝืนปรับวันละ 1 แสนบาทต่อวัน ระดับชาติ ปรับ 5 แสนบาท หากฝ่าฝืนปรับวันละ 1 แสนบาทต่อวัน ส่วนโครงข่ายสำหรับกิจการที่ใช้คลื่นความถี่ปรับ 1 ล้านบาท หากฝ่าฝืนปรับวันละ 1 แสนบาทต่อวัน และผู้ประกอบการที่มีการกระทำความผิดดังกล่าวจะถูกบันทึกประวัติว่าการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลในการต่ออายุใบอนุญาต ขอเปลี่ยนแปลงชื่อช่องรายการ หรือการขอยกเลิกประกอบกิจการด้วย
“ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สนง.กสทช. ทำงานร่วมกับ อย. อย่างใกล้ชิด มีการส่งต่อข้อมูลการตรวจสอบอย่างเป็นระบบมากขึ้น ปีที่ผ่านมามีการเปรียบเทียบปรับช่องรายการที่มีการฝ่าฝืนคำสั่งไปแล้ว 3 ราย คือ Melo TV , Ping Channel และ ช่อง 8 (ดาวเทียม) รายละ 2 หมื่นบาท และช่องรายการ Zabb Channel 5 แสนบาท แต่ขณะนี้บริษัทขอใช้สิทธิ์โต้แย้งไปยังศาลปกครองและขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งอยู่ แต่บริษัทฯ ยอมรับความผิดไปเสียค่าปรับกับ อย.เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ยังมีคำสั่งไปยังผู้ประกอบการให้ระงับการโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นกรณีที่ยังไม่ไปเสียค่าปรับที่ อย. ทั้งโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ดาวเทียม เคเบิลทีวี และวิทยุ 11 ช่องรายการ และมีคำสั่งระงับการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภค เป็นกรณีที่เสียค่าปรับกับ อย.แล้ว 42 ช่องรายการ ซึ่งช่องที่ได้รับคำสั่งแล้วหากผิดซ้ำจะถูกดำเนินตามขั้นตอนต่อไป” นางสาวสุภิญญากล่าว
ด้านเภสัชกรประพนธ์ กล่าวถึงการดำเนินงานของ อย.ในปีงบประมาณ 2558 มีการแจ้งระงับโฆษณาและเปรียบเทียบปรับเจ้าของสื่อโทรทัศน์และวิทยุทั้งหมด 65 รายการ แบ่งเป็นโทรทัศน์ 52 รายการ วิทยุ 13 รายการ ทั้งนี้เจ้าของสื่อโฆษณาได้มาเปรียบเทียบปรับกับ อย. แล้ว 51 รายการ รวมเป็นเงินค่าปรับที่ปรับได้ 316,000 บาท จากเรื่องทั้งหมด 51 รายการ เป็นเรื่องที่ กสทช. ส่งมาให้อย.ตรวจสอบโฆษณา และอย.แจ้งระงับโฆษณาฯและเปรียบเทียบปรับแล้วจำนวน 42 รายการ ส่วนในปีงบประมาณ 2559 แจ้งระงับโฆษณาและเปรียบเทียบปรับเจ้าของสื่อโทรทัศน์และวิทยุทั้งหมด 37 รายการ มีโทรทัศน์ 24 รายการ วิทยุ 13 รายการ ทั้งนี้เจ้าของสื่อโฆษณาได้มาเปรียบเทียบปรับกับ อย. แล้ว 21 รายการ รวมเป็นเงินค่าปรับที่ปรับได้ 264,000 บาท โดยเรื่องทั้งหมด 37 รายการ กสทช. ส่งมาให้อย.ตรวจสอบโฆษณา และอย.แจ้งระงับโฆษณาฯ ทุกรายการจำนวน 28 รายการ
“ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผลการทำงานร่วมกับ สำนักงาน กสทช. แล้วทำให้งานกำกับการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในสื่อวิทยุและโทรทัศน์มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด เป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกิดประโยชน์อย่างมาก สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาทั้ง 2 หน่วยงานมีการพูดคุยประสานงานกันทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เรายังได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการหลายช่องให้ความระมัดระวังในการออกอากาศโฆษณาและรายการ มีการตรวจสอบใบอนุญาตก่อนออกอากาศ แต่ยังมีบางช่องที่พยายามฝ่าฝืนและหาช่องทางในการทำผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งสองหน่วยงานเราช่วยกันมอนิเตอร์และตรวจสอบอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่องรายการที่มีการกระทำผิดแล้วจะได้รับการจับตาเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคจากสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่จงใจกระทำเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการโฆษณาที่หลอกลวงและเป็นเท็จเหล่านี้” เภสัชกรประพนธ์กล่าว
ข่าวเด่น