รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง ภัยแล้งกับความช่วยเหลือเร่งด่วนที่ประชาชนต้องการ :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,104 ตัวอย่างจากจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 18-23 มีนาคม 2559 ผลการสำรวจ พบว่า
ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 57.7 ระบุติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแนวทางในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ร้อยละ 41.4 ระบุติดตามบ้าง และร้อยละ 0.9 ระบุไม่ได้ติดตามเลย อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามต่อไปถึงความเพียงพอของข้อมูลในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยแล้งที่รัฐบาลให้กับประชาชนนั้น พบว่ามากกว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 78.4 ระบุคิดว่ารัฐบาลให้ข้อมูลเพียงพอแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 21.6 ระบุคิดว่าข้อมูลยังไม่เพียงพอ
สำหรับความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่มีต่อหน่วยงานราชการในพื้นที่ในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาภัยแล้งนั้น พบว่าร้อยละ 72.9 ระบุเห็นว่ามีความพยายามมากพอแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 27.1 ระบุเห็นว่ายังพยายามไม่มากพอ ทั้งนี้ร้อยละ 72.4 ระบุสามารถยอมรับได้หากจะต้องงดทำการเกษตร/เพาะปลูกในปีนี้ เนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 27.6 ระบุยอมรับไม่ได้
และเมื่อสอบถามถึงความเดือดร้อนที่ได้รับจากปัญหาภัยแล้งในขณะนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 57.2 ระบุได้รับความเดือดร้อนค่อนข้างมาก-มากที่สุด ร้อยละ 33.1 ระบุค่อนข้างน้อย-น้อย ในขณะที่ร้อยละ 9.7 ระบุไม่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งเลย
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความช่วยเหลือเร่งด่วนที่ต้องการ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งในขณะนี้ นั้นพบว่า ร้อยละ 85.2ระบุ อยากให้นำน้ำจากแม่น้ำขึ้นมาใช้/คิดหาแหล่งน้ำอื่นมาช่วยเหลือประชาชน/เร่งหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม/เรื่องของน้ำไม่พอใช้ในการเอามาอุปโภคบริโภค/การจัดการน้ำในพื้นที่/ช่วยเหลือในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ/เรื่องน้ำให้ชาวนาได้ทำนาทำการเกษตร/เจาะบ่อบาดาล/เร่งหาแหล่งน้ำทดแทน/อยากให้สร้างอ่างเก็บน้ำ/ปล่อยน้ำให้ทำการเกษตร/การขุดลอกคูคลองเพื่อขยายแหล่งน้ำ/การจัดการน้ำในชุมชน/สร้างฝายกักเก็บน้ำ
นอกจากนี้ ร้อยละ 40.4ระบุต้องการความช่วยเหลือด้านอาชีพเสริม/จัดหาอาชีพรองรับให้ชาวเกษตรกร/ฝึกอาชีพให้ชาวบ้าน/หางานหารายได้ให้เกษตรกรร้อยละ 19.7ระบุให้งบประมาณมาช่วยเหลือเกษตรกร/ให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรต่อไร่/ให้งบประมาณในการทำประปาหมู่บ้าน/ทุ่มงบประมาณในการแก้ปัญหา/มีเงินมาเยียวยาเกษตรกร
นอกจากนี้ยังต้องการความช่วยเหลือทางด้าน ปัญหาหนี้สิน (ร้อยละ 9.6) พิจารณาเรื่องสินค้าราคาเกษตรให้มีราคาดีขึ้น/ลดราคาต้นทุนการผลิต/ ส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรในช่วงฤดูแล้งให้มากกว่านี้/ตรวจสอบราคาผลผลิตอันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้ง (ร้อยละ 7.7) ต้องการข้อมูลเรื่องการปลูกพืชทดแทน พืชใช้น้ำน้อย(ร้อยละ 6.9) และต้องการความช่วยเหลือด้านอื่นๆ อาทิ ต้องการให้ช่วยเหลือในเรื่องของอุปกรณ์ในการสูบน้ำขึ้นมาใช้/อยากได้เครื่องจักรดันน้ำมาดันน้ำขึ้นมาใช้/โครงการฝนหลวง/ฝนเทียม/เกษตรกรขาดความรู้ในการทำการเกษตร/ให้ความรู้อบรมการบริหารน้ำในชุมชน (ร้อยละ 12.5) ตามลำดับ
ประเด็นสำคัญสุดท้าย เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามตัวอย่างแกนนำชุมชนกรณีความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการน้ำโดยภาพรวมของรัฐบาลและ คสช. นั้นพบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนส่วนใหญ่ คือร้อยละ 82.3 ระบุพอใจ ในขณะที่ร้อยละ 17.7 ระบุยังไม่พอใจ
ข่าวเด่น