กลยุทธ์วันนี้ Selective Buy
ตลาดหุ้นวานนี้:
ตลาดหุ้นไทยวานนี้ ยังคงแกว่งแคบระหว่าง 1,390-1,400 จุด โดยความผันผวนของตลาดหุ้นโดยรวมมาจากกลุ่ม ICT ขณะที่กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยมติเอกฉันท์ ทำให้หุ้นหลักในกลุ่มธนาคารฟื้นตัวในช่วงบ่าย ปิด ณ สิ้นวัน SET INDEX อยู่ที่ 1,412.16 จุด บวก 14.96 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 52,685 ล้านบาท
ด้านเงินทุนต่างชาติยังคงเบาบางต่อเนื่อง ซื้อสุทธิตลาดหุ้นเป็นวันที่ 2 อีก 436 ล้านบาท Short สุทธิใน SET50 Index Futures เป็นวันที่ 2 อีก 9,410 สัญญา และขายสุทธิตลาดตราสารหนี้เป็นวันแรกในรอบ 5 วันทำการ 3,269 ล้านบาท
ปัจจัยสำคัญวันนี้
- การประชุม กนง.คงอัตราดอกเบี้ย RP1 วันที่ 1.50% ด้วยมติเอกฉันท์เป็นบวกต่อหุ้นหลักในกลุ่มธนาคาร
- ธปท.ปรับลด GDP ปีนี้ลงเหลือ 3.1% จากเดิม 3.5% เป็นผลจากการส่งออกที่คาดว่าจะหดตัวเป็นปีที่ 3 ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของตลาดก่อนหน้านี้
- ราคาน้ำมันดิบ NYMEX ปิดต่ำกว่า US$40/barrel อีกครั้ง
มุมมองต่อตลาด
เราคงมุมมองต่อการลงทุน “บวก” วันที่ 10 หลัง SET INDEX ปิดทะลุระดับสูงสุดก่อนหน้า 1,407 จุด มาอยู่ที่ 1,412.16 จุด แม้ว่าเม็ดเงินทุนต่างชาติจะไม่หนาแน่นก็ตาม แต่เรากลับมองว่าในช่วงสั้นภาวะการลงทุนที่ขาดปัจจัยลบใหม่เข้ามากดดันการลงทุน อีกทั้ง Valuation ของ SET INDEX ณ ปัจจุบันที่ 14.57x สำหรับ PER59 เทียบกับค่าเฉลี่ย 1Yr Forward PER เฉลี่ย 5 ปีเท่ากับ 13.71x
ถือว่าอยู่ในโซนที่แพงต่อเนื่องแล้วก็ตาม แต่ด้วยสภาพคล่องทางการเงินที่ล้นในระบบการเงินทั่วโลก อีกทั้งการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบของ ECB ผ่าน QE และโครงการเงินกู้พิเศษ รวมถึง BoJ มีโอกาสที่จะเพิ่มปริมาณเงินผ่านการเพิ่มวงเงิน QE ใน 2Q59 ย่อมทำให้สินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงตลาดหุ้นไทย เกิดการปรับฐานลงแรงได้อย่างจำกัด หรือเป็นการเทรดดิ้งบนสภาพคล่องทาง
การเงินที่ล้น
แต่แน่นอนว่า การเก็งกำไร ณ ระดับเหนือ 1,400 จุด ขึ้นไป นักลงทุนควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น พร้อมกำหนดจุด Stop Loss และ Lock-in Profit อย่างต่อเนื่อง เพราะความผันผวนสามารถกลับมาอยู่ในระดับสูงได้ทุกเมื่อ หากเกิดปัจจัยลบใหม่ที่มีน้ำหนัก
ภาพของกลุ่มหลัก
- กลุ่ม ICT: เรายังคงแนะนำให้ทยอยขายทำกำไร และ Wait&See กลุ่มนี้ เพราะภาพการแข่งขันของธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง
- กลุ่มพลังงาน / ปิโตรเคมี: ทยอยขายทำกำไรเมื่อราคาฟื้นตัว เพราะในช่วงสั้นราคาน้ำมันดิบจะเข้าสู่ช่วงพักฐานรอบสั้น ขาดปัจจัยบวกที่จะผลักดันราคาหุ้นหลักของกลุ่มในช่วงนี้
- กลุ่มธนาคาร: แนะนำเก็งกำไรรายตัว หลัง กนง.ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยมติเอกฉันท์ ทำให้ NIM ของธนาคารขนาดใหญ่จะทรงตัวได้ต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา
- กลุ่มรับเหมา / กลุ่มวัสดุก่อสร้าง: เราให้น้ำหนักความน่าสนใจลงทุนสูงสุดในช่วงนี้ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะกลับมาเร่งผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ตามมาจากนี้
เราประเมินกรอบแกว่งของ SET INDEX ระหว่าง 1,400 – 1,420 จุด มูลค่าการซื้อขาย 5.0-5.5 หมื่นล้านบาท/วัน
กลยุทธ์การลงทุน
เราแนะนำให้ “นักลงทุนขายทำกำไรมากขึ้น และหันมาทยอยสะสมหุ้นหลักในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และ/หรือ วัสดุก่อสร้าง มากขึ้น”
Stock Pick of the Day
กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ แนะนำ “สะสม” ได้แก่
1. ITD : ราคาปิด 7.00 บาท ราคาเหมาะสม 12.00 บาท
a) MBKET ประเมินว่าหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างจะ Outperform ตลาด จากความคืบหน้าของแผนลงทุนขนาดใหญของภาครัฐฯ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมจะมีการเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม-เหลือง-ชมพู ให้ครม.พิจารณาอนุมัติในวันอังคารหน้า (29 มี.ค.)
b) ความคืบหน้าของโครงการเหมืองแร่โปรแตซจะเป็นปัจจัยบวกขับเคลื่อนราคาหุ้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างกำหนดวันทำประชาพิจารณ์รอบสุดท้ายระดับจังหวัด โดยในขั้นตอนนี้จะไม่มีการโหวตเหมือนการทำประชาพิจารณ์ระดับตำบล
c) หลังจากนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะพิจารณาข้อดีและข้อเสียของโครงการเหมืองแร่โปรแตซ เพื่อนำเสนอให้ครม.รับทราบและออกประทานบัตร โดยคาดว่าจะได้ประทานบัตรในช่วงเดือน มิ.ย.
d) ให้เป็น Top pick ของกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจาก Upside สูงสุด และมูลค่าของโครงการเหมืองแร่โปรแตซเฉพาะโครงการอุดรใต้ คิดเป็นมูลค่าต่อหุ้น ITD แบบ Conservative ไม่ต่ำกว่า 5.00 บาทต่อหุ้น
2. TPIPL : ราคาปิด 2.64 บาท ราคาเหมาะสม 3.40 บาท
a) MBKET คงมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากได้ประโยชน์โดยตรงจากแผนลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์กลับมาขยายตัวในปี 2559
b) คาดกำไรจากการดำเนินงานปกติ 1Q59 จะเติบโตเด่นทั้ง yoy และ qoq จากการรับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้าขยะจำนวน 73MW แบบเต็มไตรมาส รวมทั้งเป็นไตรมาสแรกที่จะเดินเครื่องการผลิตได้อย่างเต็มที่ จากปีก่อนหน้าที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น
c) แผนการนำบริษัทลูก คือ TPIPP เข้าจดทะเบียน IPO ในปีนี้ จะเป็น Catalyst สำคัญ และช่วยเพิ่ม Market Cap ให้ TPIPL อย่างมีนัยสำคัญ โดยประเมินเบื้องต้นคาดว่าหุ้น TPIPP จะมี Market cap ราว 5 หมื่นล้านบาท หรือเทียบเท่ามูลค่าต่อหุ้น TPIPL ที่ 2.45 บาท
d) Valuation ถูกมาก ซื้อขายระดับ PBV2559 เพียง 0.9 เท่า ต่ำกว่า SCC และ SCCC ที่ 2.4x และ 2.9x ตามลำดับ
Fund Flow Analysis
Fund Flow in Emerging Markets
ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 20 อีก US$136 ล้าน เร่งขึ้นจากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ US$98 ล้าน และเป็นการซื้อสุทธิทุกตลาด
Foreign Investors Action วานนี้
กระแสเงินทุนต่างชาติเป็นกลางต่อเนื่องเป็นวันที่ 3
นักลงทุนต่างชาติคงการซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 2 อีก 436 ล้านบาท รวม 2 วันทำการซื้อสุทธิ 988 ล้านบาท ทำให้ยอด YTD ซื้อสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็น 8,775 ล้านบาท
ด้าน SET50 Index Futures นักลงทุนกลุ่มนี้คงการ Short สุทธิเป็นวันที่ 2 อีก 9,410 สัญญา รวม 2 วันทำการ Short สุทธิ 10,054 สัญญา เทียบกับ 3 วันทำการก่อนหน้า Long สุทธิ 19,102 สัญญา เชื่อว่าจะเป็นการทยอยปิดสถานะ Long ต่อเนื่อง และกดดันให้ S50M16 ปิดต่ำกว่า SET50 Index แคบลงเหลือ 7.56 จุด จากวันก่อนหน้า Discount เท่ากับ 9.20 จุด กดดันให้ QTD นักลงทุนกลุ่มนี้ Long สุทธิต่ำกว่า 140,000 สัญญา เป็น 133,747 สัญญา
และตลาดตราสารหนี้ นักลงทุนกลุ่มนี้กลับมาขายสุทธิเป็นวันแรกในรอบ 5 วันทำการ 3,269 ล้านบาท เทียบกับ 4 วันทำการก่อนหน้าซื้อสุทธิ 33,941 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาพันธบัตรไทยลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ผ่านผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นอีก 1.35bps จากวันก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 2.86bps ปิดที่ 1.851%
Short-Selling วานนี้
ลดลงเล็กน้อยเป็น 1,124 ล้านบาท จากวันก่อนหน้า 1,375 ล้านบาท
NVDR Movement
NVDR ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 17 ยังคงเน้นในกลุ่มธนาคาร
การซื้อขายผ่าน NVDR ซื้อสุทธิลดลงเหลือ 728 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 1,315 ล้านบาท รวม 17 วันทำการ ซื้อสุทธิ 43,827 ล้านบาท โดยเน้นกลุ่มธนาคารต่อเนื่อง สรุปภาพรวมได้ดังนี้
1. กลุ่มธนาคาร ถูกซื้อสุทธิสูงสุดเป็นวันที่ 2 อีก 659 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 809 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มพลังงานซื้อสุทธิ 389 ล้านบาท กลุ่มโรงพยาบาล ซื้อสุทธิ 117 ล้านบาท และกลุ่มอสังหาฯ ซื้อสุทธิ 116 ล้านบาท
2. ส่วนกลุ่มขนส่ง ถูกขายสุทธิสุงสุดเป็นวันที่ 2 อีก 565 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าขายสุทธิ 326 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มค้าปลีกขายสุทธิ 95 ล้านบาท
ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ – การเงินรายภูมิภาค
สหรัฐอเมริกา
ยอดขายบ้านใหม่เดือนก.พ. ใกล้เคียงคาด: เท่ากับ 5.12 แสนหลัง เทียบกับ Bloomberg consensus คาด 5.10 แสนหลัง แต่ดีกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 5.02 แสนหลัง โดยยอดขายบ้านในด้านตะวันตกเพิ่มขึ้นเด่นสุด 39% mom จากเดือนม.ค.ที่หดตัว 33.0% mom
ยุโรป
ไม่มี
จีน
ไม่มี
เอเชียแปซิฟิก
ธนาคารกลางฟิลิปปินส์คงอัตราดอกเบี้ย: ที่ 4.0% สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษที่ 2.50% เนื่องจากการเลือกตั้งในเดือนพ.ค. น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม
อัตราเงินเฟ้อสิงคโปร์หดตัวยาวนานสุดในรอบเกือบ 40 ปี: ลดลง 0.8% yoy ในเดือน ก.พ. จากเดือนก่อนที่ลดลง 0.6% yoy ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 นานสุดนับตั้งแต่ปี 2520 เป็นการหดตัวใกล้กับที่ Bloomberg Consensus คาดลดลง 0.7% yoy เนื่องจากราคาขนส่ง, บ้านและการสื่อสารที่ลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อที่ไม่รวมรถยนต์ส่วนตัวและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 0.5% ทั้งนี้ทางการคาดเงินเฟ้ออยู่ระหว่าง -1.0% ถึง 0%
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไต้หวันหดตัวน้อยกว่าคาด: ลดลง 3.65% yoy ในเดือน ก.พ. จากเดือนก่อน -5.99% yoy เทียบกับ Bloomberg Consensus คาด -5.30% yoy ทั้งนี้ดัชนีปิโตรเลียม, เครื่องดื่มและบุหรี่เพิ่มขึ้น 9.47%, 2.46% และ 2.09% ตามลำดับ
ไทย
กทค.ยึดเงินประกัน JAS 644 ล้านบาท ประมูลใหม่เดือนมิ.ย.: บอร์ด กทค. ว่า ที่ประชุมมีมติยึดเงินประกันบริษัท แจส โมบาย ที่ไม่นำเงินงวดแรกมาชำระ หลังชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จำนวน 644 ล้านบาท พร้อมกันนี้ มีการตั้งคณะทำงานสรุปความเสียหายเพิ่มเติม กลับมาเสนอภายใน 30 วัน
นอกจากนี้ จะเร่งเปิดประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวใหม่ โดยราคาเริ่มต้นประมูลตามมติ กทค. อยู่ที่ 75,654 ล้านบาท และจะต้องมีการรับฟังความเห็นสาธารณะภายใน 30 วัน และเปิดประมูลภายในเดือนมิถุนายน โดยเงื่อนไขการวางเงินค้ำประกัน จะเปลี่ยนเป็น ต้องวางทันทีในวันซื้อซองประมูล และสัดส่วนอาจเพิ่มเป็นร้อยละ 10, 20, 30 ของมูลค่าคลื่น จากเดิมวางเงินค้ำประกันเพียงร้อยละ 5
กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยมติเอกฉันท์: ประชุมกนง.มีมติเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5ต่อปี เนื่องจากเห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยังมีความเสี่ยงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกรวมทั้งทิศทางนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่อาจแตกต่างกันมากขึ้น ส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายการเงินในปัจจุบันอยู่ในระดับผ่อนปรน
ธปท.ลดเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ: ปรับปีนี้ลงเหลือ 3.1% จากเดิม 3.5% โดยปรับการส่งออกลงจากเดิม 0.0% เป็น -2.0%
โดย บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ประจำวันที่ 24 มี.ค. 2559
ข่าวเด่น