นายกฯ ห่วงอุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนนที่เกิดบ่อยครั้ง มอบหมาย คค. สตช. บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ละเลยหรือเลือกปฏิบัติ สร้างวัฒนธรรมการเคารพกฎหมาย พร้อมกำชับตรวจสอบมาตรฐานขนส่งสาธารณะหลังเกิดเหตุขัดข้อง
พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนนและการฝ่าฝืนกฎหมายที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าว และต้องการให้แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหา และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อลดปริมาณการเกิดอุบัติเหตุ ลดจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ หรือทุพพลภาพ ลงให้ได้
“ที่ผ่านมารัฐบาลแต่ละยุคได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน เช่น กำหนดให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ กำหนดให้ปี 2554 – 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน หรือรณรงค์ขับขี่รถปลอดภัยในช่วงเทศกาล แต่ก็ยังมีการเกิดอุบัติเหตุในการจราจรจำนวนมาก โดยในปี 2558 องค์การอนามัยโลกระบุว่า ไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน”
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้แก้ไขที่ต้นตอของปัญหา เพราะที่ผ่านมาปัญหาเกิดจากทั้งตัวผู้ขับขี่ที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม และความย่อหย่อนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ทำให้ปัญหายังคงวนเวียนอยู่ที่เดิม
“ท่านนายกฯ จึงได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม (คค.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยไม่ปล่อยปละละเลย เช่น หากพบผู้กระทำผิดต้องจับจริง ปรับจริง ยึดรถ หรือใบขับขี่ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ที่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎไม่กล้าทำผิดอีก ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องร้ายแรง พร้อมกับดึงประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เปิดช่องทางรับแจ้งข้อมูลและส่งเจ้าหน้าที่ไประงับเหตุอย่างทันท่วงที ส่วนการสอบ เพื่อออกใบอนุญาต ยึด หรือคืนใบขับขี่ จะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ตรงไปตรงมา เพื่อสร้างบรรทัดฐานให้สังคมยอมรับ
นอกจากนี้ จะต้องรณรงค์สร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นวาระสำคัญ ต้องไม่ขับรถเร็ว เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่ดื่มสุรา มีความรู้เรื่องกฎจราจร สวมหมวกนิรภัย มีสติ ฯลฯ หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และจะถูกลงโทษจากสังคมว่าเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจ ไม่อาจยอมรับได้ เพราะเป็นต้นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น และทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย
ขณะเดียวกัน ท่านนายกฯ ยังได้กำชับให้กระทรวงคมนาคมตรวจสอบดูแลมาตรฐานการปฏิบัติงานและความปลอดภัยของระบบโดยสารสาธารณะต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ทั้งในด้านอุปกรณ์ คน และการบริหารงาน หลังจากเกิดเหตุขัดข้องกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ รถไฟฟ้าบีทีเอส และเรือโดยสารในคลองแสนแสบ โดยให้คำนึงความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นอันดับแรก”
ข่าวเด่น