นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า ในช่วงที่มีอากาศร้อนประชาชนทั่วไปนิยมบริโภคน้ำแข็ง ใส่ในเครื่องดื่มเพื่อคลายร้อน ซึ่งสำนักอนามัยได้สำรวจ พบว่า น้ำแข็งที่จำหน่ายในสถานที่จำหน่ายอาหาร ร้อยละ 64.62 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ พบการปนเปื้อนทางด้านจุลินทรีย์ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร
โดยเฉพาะเชื้อ Coliforms ซึ่งอยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์เลือดอุ่น โดยจะถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระ หากรับประทานอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้อนก็จะทำให้มีอาการท้องร่วง ท้องเสีย อาเจียน เป็นไข้ ปวดศีรษะ หรืออาจเสียชีวิตได้
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวต่อไปว่า สำนักอนามัยจึงร่วมกับสำนักเขต 50 เขต สำรวจการขนส่งน้ำแข็งในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร พบว่า มีการขนส่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ส่วนใหญ่เป็นรถกระบะเปิดโล่ง มีผ้าใบปกคลุม บรรจุน้ำแข็งในถุงกระสอบ ซึ่งเมื่อได้ทดลองเปรียบเทียบการบรรจุน้ำแข็งในถุงพลาสติกและถุงกระสอบ พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาการปนเปื้อนด้านจุลินทรีย์ พบว่า ตัวอย่างน้ำแข็งบรรจุถุงพลาสติก ร้อยละ 100 ไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ และตัวอย่างน้ำแข็งบรรจุถุงกระสอบมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ร้อยละ 31.5
ดังนั้นจึงได้รณรงค์ให้ผู้ประกอบการขนส่งน้ำแข็งใช้ถุงพลาสติกในการบรรจุน้ำแข็งแทนการใช้ถุงกระสอบ ภาชนะรองรับน้ำแข็งต้องสะอาด และดูแลสุขอนามัยของผู้ขนส่งน้ำแข็ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ สำหรับประชาชนควรเลือกบริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาด ถูกหลักอนามัย เลือกซื้อน้ำแข็งที่บรรจุในถุงหรือแก้วพลาสติกพร้อมบริโภค สังเกตรายละเอียดบนฉลากภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ดูเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต มีข้อความระบุว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้”
หากจะบริโภคน้ำแข็งที่ใช้ตักแบ่งขายในร้านอาหาร ควรหลีกเลี่ยงน้ำแข็งที่ขนส่งโดยถุงกระสอบ น้ำแข็งต้องมีความใส สะอาด ปราศจากเศษฝุ่นละอองปนเปื้อน ภาชนะบรรจุน้ำแข็งต้องสะอาด และผู้จำหน่ายต้องไม่นำสิ่งของอื่นมาแช่ปะปนกับน้ำแข็งบริโภค เพื่อเป็นการป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร
ข่าวเด่น