นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2559 พบว่าหดตัวลง 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาขาการผลิตที่หดตัว ได้แก่ สาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับปัจจัยลบที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสแรกปีนี้หดตัว คือ ปรากฎการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2559 และปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก กรมชลประทานจำเป็นต้องควบคุมและจัดสรรการใช้น้ำเพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงการรักษาระบบนิเวศก่อน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง
ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายสาขาจะพบว่า สาขาพืช ไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัว 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีผ่านมา โดยผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และลำไย สำหรับผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงาน และยางพารา ด้านราคา พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2559 สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยลดลง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน และลำไย ส่วนสินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น คือ สับปะรดโรงงาน
สาขาปศุสัตว์ ไตรมาส 1 ปี 2559 ขยายตัว 2.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยภาวะการผลิตปศุสัตว์ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการดูแลและเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง และความต้องการของตลาดยังคงขยายตัว ซึ่งแม้สภาพอากาศที่แปรปรวนจะกระทบต่อการเติบโตของสัตว์อยู่บ้าง แต่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตเพียงเล็กน้อย ทำให้ปริมาณผลผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ยังคงเพิ่มขึ้น ด้านราคา สินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีราคาเฉลี่ยสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2559 ราคาเฉลี่ยของสุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้น ส่วนไก่เนื้อมีราคาลดลง
สาขาประมง ไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัว 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือที่สำคัญหลายท่าลดลงจากการประกาศบังคับใช้กฎหมายประมง เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) หลังจากสหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองทำให้เรือประมงขนาดเล็กและเรือประมงพาณิชย์บางส่วนต้องหยุดการทำประมงและจอดเรือเทียบท่า แม้ว่าภาครัฐจะเร่งช่วยเหลือเยียวยา แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงได้รับความเดือดร้อน ซึ่งผลดังกล่าวยังส่งกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบด้วย
ด้านราคา ราคากุ้งขาวแวนนาไม ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากปริมาณผลผลิตกุ้งที่ออกสู่ตลาดมีมากเกินความต้องการของผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำซึ่งได้ปิดตัวไปหลายรายจากปัญหาโรคตายด่วนและปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการกดราคารับซื้อกุ้งจากเกษตรกร นอกจากนี้ ประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้หันไปนำเข้ากุ้งจากเวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย และเอกวาดอร์ ทดแทน ส่งผลให้ราคากุ้งในประเทศลดลงด้วย
สาขาบริการทางการเกษตร ไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัว 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากการจ้างบริการเตรียมดิน และการเกี่ยวนวดข้าวลดลง โดยเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลง จากปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนหลักมีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ประกอบกับการใช้บริการรถเก็บเกี่ยวอ้อยลดลงเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตอ้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้สาขาบริการทางการเกษตรลดลง
สาขาป่าไม้ ไตรมาส 1 ปี 2559 ขยายตัว 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส และไม้ยางพารา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกระดาษและการก่อสร้างต่าง ๆ ขณะที่ไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายการตัดโค่นสวนยางพาราเก่าของ กยท. เพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชอื่น สำหรับการผลิตถ่านไม้ ครั่งเม็ดและครั่งดิบ มีปริมาณลดลงเป็นผลมาจากความแห้งแล้ง
เลขาธิการ สศก. กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 1.8-2.8% โดยสาขาพืช ขยายตัว 2.2-3.2% สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 1.5-2.5% สาขาประมง ขยายตัว 0.5-1.5% สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 0.3-1.3% และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.3-3.3% โดยมีปัจจัยบวกมาจาก ราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง หรือไม่ปรับขึ้นมากนัก เงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย และการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่างๆ ของภาครัฐ เช่น การลดต้นทุนการผลิต, ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่, เขตเกษตรเศรษฐกิจ, ธนาคารสินค้าเกษตร รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำและแก้ปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวจะทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยชะลอตัวลงด้วย โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยเน้นการปฏิรูป supply side เพื่อลดปัญหาอุปทานล้นตลาดในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการปฏิรูปดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการผลิตและราคาสินค้าเกษตรของไทยด้วย
ข่าวเด่น