สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลภาคเกษตรขยายวงกว้าง ระบุ พื้นที่เสียหายครอบคลุม 2.87 ล้านไร่ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบมากกว่า 2 แสน 7 หมื่นราย เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามฤดูกาล ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตรตามมา โดยปี 58 มีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 15,000ล้านบาท
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2558 ส่งผลต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่เก็บกักใน 33 เขื่อนหลักและอ่างต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งปริมาณฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้หลายพื้นที่จะต้องประสบปัญหาภัยแล้งทั้งในและ นอกเขตชลประทาน มีน้ำไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพด้านเกษตรกร รวมทั้งอาชีพอื่นๆ ที่ใช้น้ำมากได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งจากการติดตามของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำรวจพบความเสียหายครอบคลุมพื้นที่ 2.87 ล้านไร่ (ข้อมูล ณ 17 มีนาคม 2559) เกษตรกรได้รับผลกระทบ 272,743 ราย
จากสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานพื้นที่ที่เข้าหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายโดยสิ้นเชิง โดยช่วยเหลือตามพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริง ไม่เกินรายละ 30 ไร่ ในอัตรา ดังนี้
ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท ซึ่งสำรวจพบความเสียหายแล้วคิดเป็นปริมาณผลผลิตที่เสียหาย 6.10 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 15,514.65 ล้านบาท วงเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 3,226.05 ล้านบาท
สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกร กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายโดยสิ้นเชิงดังกล่าว กรณีแยกตามภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุด มูลค่าความเสียหาย 6,955.91 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ของมูลค่าความเสียหายรวม รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่าความเสียหาย 6,240.80 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าความเสียหายรวม
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตผ่านวิกฤตภัยแล้งไปได้ โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ปี 2558/59 จำนวน 8 มาตรการ 45 โครงการ ซึ่งมีหลายหน่วยงาน ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ระดับชาติ (ศก.กช.) โดยมีงบประมาณรวมทั้งสิ้น 32,384.54 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานทั้ง 8 มาตรการช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ 18 มีนาคม 2559) มีผลการเบิกจ่ายงบประมาณแล้วจำนวน 11,272.21 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในแต่ละกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 1.48 ล้านราย
ทั้งนี้ หากแยกเฉพาะมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ 601,775 ราย จากกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ สนับสนุนปัจจัยการผลิต ยกเว้นค่าเช่าที่ดิน ส.ป.ก. ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์ จ้างงานของกรมชลประทาน การช่วยเหลือของสหกรณ์ และอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งปี 2558/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละมาตรการ ยังคงมีกิจกรรมหรือโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณางบประมาณ ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งไปได้
ข่าวเด่น