นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า าจากการประชุมหารือผู้นำของไทยและจีนเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ได้ปรับเส้นทางเป็นเส้นทาง กรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย จากกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และ แก่งคอย-มาบตาพุด โดยจะดำเนินการก่อสร้างช่วงแรกก่อน คือกรุงเทพฯ- แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร (กม.)
เป็นรถไฟความเร็วสูง 250 กม./ชม. ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (ม.) เพื่อรองรับผู้โดยสารซึ่งถือเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงครั้งแรกของไทย และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ส.ค.หรือก.ย.59 เลื่อนจากเดิมที่โครงการนี้จะเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ค. 59 โดยฝ่ายไทยจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด แต่ใช้เทคโนโลยีจากจีน
อย่างไรก็ตาม วงเงินลงทุนรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีตัวเลขแตกต่างกันโดยฝ่ายไทย ระบุตัวเลขลงทุน 1.7 แสนล้านบาท ขณะที่ข้อมูลของฝ่ายจีนระบตัวเลขลงทุน 1.9 แสนล้านบาท ฝ่ายไทยจึงขอให้ปรับราคาลงมาตามประมาณการวงเงินลงทุนของไทย โดยขอให้ตัดส่วนที่ไม่มีความจำเป็นออกไป
นายอาคม กล่าวถึงสาเหตุที่ทางฝ่ายจีนไม่สามารถเข้ามาร่วมลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีนในครั้งนี้ เพราะหากต้องร่วมลงทุนทั้งโครงการที่สูงถึง 500,000 ล้านบาท จีนขอแลกเปลี่ยนด้วยการให้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทางของการก่อสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา และนครราชสีมา-หนองคาย ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเงื่อนไขนี้ไม่ตรงกับข้อตกลงเดิม ที่เคยทำร่วมกันไว้ระหว่าง 2 ประเทศ ไทยจึงตัดสินใจพักเส้นทางช่วงที่เหลือกว่า 595 กิโลเมตรไว้ก่อน แต่ทางฝ่ายไทยก็ยังต้องใช้เทคโนโลยี ระบบราง ตัวรถและอาณัติสัญญาณจากจีนตามข้อตกลงเดิมที่เคยทำไว้
ในส่วนของแหล่งเงินทุนนั้นจะพิจารณาจากจีนก่อน ซึ่งฝ่ายไทยขออัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยก่อนหน้าทางจีนเสนอให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 2.5% ขณะที่ฝ่ายไทยต้องการอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% อย่างไรก็ตามได้มีการหารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ที่ได้เข้าร่วมการประชุมด้วยว่าทางกระทรวงคลังมีขีดความสามารถที่จะหาเงินกู้ได้ ทั้งนี้อาจจะกู้ในประเทศ หรือระดมเงินผ่านกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ฉะนั้นหากฝ่ายจีนเสนอเงื่อนไขที่สูง ฝ่ายไทยก็จะพิจารณาแหล่งเงินกู้อื่น
ข่าวเด่น