วันนี้ (25 มีนาคม 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จสามารถกำจัดโรคเรื้อนจนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ คือ อัตราความชุกโรคเรื้อนต่ำกว่า 1 ต่อ 10,000 ประชากร ตั้งแต่ปี 2537 ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ใน”ระยะหลังกำจัดโรคเรื้อน” จากข้อมูล 10 ปีย้อนหลัง (ปี 2549-2558) จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประชากรไทยมีแนวโน้มลดลง คือ 615, 506, 401, 358, 405, 280, 220, 188, 208 และ 187 ราย ในปี 2558 จังหวัดที่พบจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่สูงสุด 5 ลำดับแรกคือนราธิวาส 25 ราย ศรีสะเกษ 14 ราย ปัตตานี 13 ราย ชัยภูมิ 10 ราย บุรีรัมย์ และยะลา จังหวัดละ 9 ราย ซึ่งผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประชากรไทยยังคงพบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประชากรต่างด้าวนั้น พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554–2558) พบผู้ป่วยในกลุ่มประชากรต่างด้าวเฉลี่ย 20 – 50 รายต่อปี โดยพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่สัญชาติเมียนม่าร์ มากที่สุด รองมาได้แก่ กัมพูชา ลาว จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ปี 2556 ที่ยังคงมีรายงานการค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประเทศที่มีพรหมแดนติดต่อประเทศไทย คือเมียนม่าร์ 2,950 ราย กัมพูชา 373 ราย มาเลเซีย 306 ราย และลาว 84 ราย ซึ่งในปี 2558 ประเทศไทยค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อนในประชากรต่างด้าวในพื้นที่จังหวัด ภาคเหนือมากที่สุด 27 ราย (เชียงใหม่ 17 ราย, ตาก 5 ราย และแม่ฮ่องสอน 5 ราย), ภาคกลาง 8 ราย (สมุทรปราการ 3 ราย, กทม. 2 ราย, กาญจนบุรี, นครปฐม และสมุทรสาคร จังหวัดละ 1 ราย), ภาคใต้ 4 ราย (สงขลา 4 ราย)
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินงานควบคุมโรคเรื้อนในกลุ่มประชากรต่างด้าว กรมควบคุมโรคมีนโยบายเร่งรัดการดำเนินงานกำจัดโรคเรื้อน โดยการพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคเรื้อนทั้งในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและพื้นที่ชายแดน ดังนี้ 1.ตรวจสุขภาพก่อนออกใบอนุญาตทำงาน รวมถึงจัดกิจกรรมการอบรมให้ความรู้แก่แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและคลินิกเอกชน โดยใช้ต้นแบบระบบเฝ้าระวังในประชากรต่างชาติพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก และ 2.จัดทำแบบคัดกรองโรคเรื้อน 5 ภาษาได้แก่ เมียนม่าร์ กัมพูชา ลาว กะเหรี่ยง และยาวี สำหรับใช้ในโรงพยาบาลและสถานประกอบการ ในการคัดกรองผู้มีอาการสงสัยหรือมีโรคผิวหนังเรื้อรัง เพื่อลดปัญหาการสื่อสารในการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวของสถานบริการสาธารณสุข
ด้านนายแพทย์กฤษฎา มโหทาน นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้มีประชากรต่างด้าวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในกลุ่มคนเหล่านี้อาจมีผู้ป่วยโรคเรื้อนเดินทางเข้ามาด้วย จึงอาจทำให้โรคเรื้อนกลับมาเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศไทยได้อีก เพราะมีปัจจัยเสี่ยงใน 3 ด้านสำคัญ ดังนี้ 1.ด้านบุคคล ซึ่งประชากรไทยมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดประชากรต่างด้าวที่เป็นโรคเรื้อน 2.ด้านเชื้อโรค การเพิ่มขึ้นของประชากรต่างด้าวเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะมีแหล่งรังโรคเรื้อน และ 3.ด้านสิ่งแวดล้อม ที่พักอาศัยของประชากรต่างด้าวที่เป็นชุมชนแออัดทำให้มีโอกาสเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคเรื้อน
ประกอบกับแรงงานต่างด้าวบางส่วนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทำให้เข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข จึงไม่ได้รับการตรวจสุขภาพ เพื่อการตรวจคัดกรองโรคเรื้อน เมื่อป่วยเป็นโรคเรื้อนทำให้ไม่ได้รับการดูแลรักษา และสถานการณ์โรคเรื้อนในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ลดน้อยลง ทำให้แพทย์/พยาบาลบางส่วนมีทักษะในการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคเรื้อนน้อยลง ซึ่งในการตรวจจะต้องใช้อาการทางคลินิกเป็นหลักสำคัญ และปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการที่ง่าย สะดวก และมีความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยโรคเรื้อน ดังนั้น หากประชากรต่างด้าวที่เป็นโรคเรื้อนที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทย และไม่ได้รับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องจึงมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อโรคเรื้อนมาสู่คนไทยได้
นายแพทย์กฤษฎา กล่าวอีกว่า ในโอกาสนี้ ขอแนะนำให้ประชาชนทุกคนหมั่นดูแลผิวหนังและสังเกตอาการของโรค หากเป็นโรคผิวหนังที่ไม่คันและรักษาไม่หายภายในเวลา 3 เดือน หรือผิวหนังเป็นวงด่างสีขาวหรือแดง มีอาการชา หรือผื่นนูนแดง ผื่นวงแหวน ตุ่มแดงไม่คัน ให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจรักษา สำหรับผู้ที่ทำงาน หรืออยู่ร่วมกับคนที่เป็นโรคเรื้อน ให้แนะนำ หรือพาผู้ป่วยโรคเรื้อนหรือผู้มีอาการสงสัยโรคเรื้อนไปรับการตรวจรักษา ซึ่งโรคเรื้อนสามารถรักษาให้หายได้ ภายใน 6 เดือน- 2 ปี และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาภายในสัปดาห์แรกก็จะไม่แพร่โรค ดังนั้นจึงสามารถทำงาน และดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม/ชุมชนได้ตามปกติ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น