กระทรวงเกษตรฯ เผยสถานการณ์สัตว์น้ำสำคัญ 7 ชนิด เดินหน้าพัฒนาสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ สร้างความมั่นใจให้ประเทศคู่ค้ายอมรับมาตรฐานการผลิตและการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง หวังแก้ไขปัญหา IUU
นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมประมงได้รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์สัตว์น้ำทั้ง 7 ชนิด ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ได้แก่ กุ้งทะเล ทูน่า หมึก ปลาเป็ดและปลาป่น ปลานิล กุ้งก้ามกราม และปลาดุก โดยผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงในเดือน ม.ค.59 มีปริมาณ 16,830.4 ตัน แบ่งเป็น กุ้งขาวแวนนาไม ร้อยละ 94 และกุ้งกุลาดำ ร้อยละ 6 ส่วนเดือน ก.พ. 59 ผลผลิตกุ้งทะเลลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.32 เนื่องจากเป็นช่วงอากาศหนาวเย็น ส่งผลให้ผลผลิตชะลอตัว ขณะที่การส่งออกกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ ปี 2558 มีปริมาณ 169,810 ตัน มูลค่า 57,036 ล้านบาท
ส่วนผลผลิตกุ้งก้ามกราม ในเดือน ธ.ค. 58 มีปริมาณ306.5 ตัน ลดลงร้อยละ 10 และส่งออก 1,557.3 ตัน ลดลงร้อยละ 25 มูลค่า 362.8 ล้านบาท โดยสาเหตุที่กุ้งก้ามกรามมีผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรได้หันมาเลี้ยงกุ้งขาวมากขึ้น เพราะใช้เวลาในการเลี้ยงสั้นกว่า ดังนั้น จึงต้องเร่งพัฒนาสายพันธุ์กุ้งก้ามกรามให้มีคุณภาพดีและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยง เพื่อให้มีอัตรารอดสูง ควบคู่กับการส่งเสริมด้านการตลาด
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาด้านแรงงานที่ถูกใช้เป็นประเด็นเชื่อมโยงสู่การกีดกันทางการค้าในสินค้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนให้สถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำทำการแปรรูปสัตว์น้ำโดยไม่ผ่านสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น ตลอดจนการสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญการผลิตกุ้งให้เป็นไปตามมาตรฐาน Food Safety และการสร้างความมั่นใจให้ประเทศคู่ค้าเชื่อมั่นในระบบการผลิต และการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้ากุ้งไทย
ด้านผลผลิตปลานิลในเดือน ม.ค.59 มีจำนวน 14,571 ตัน ลดลงร้อยละ 4.5 ส่วนเดือน ก.พ.59 ผลผลิตลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.93 เนื่องจากภาวะภัยแล้ง ส่วนการส่งออกมีจำนวน 9,908.4 ตัน ลดลงร้อยละ 36 มูลค่า 717 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงปลานิลครบวงจร ปี 2558 - 2560 เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการเลี้ยงและส่งเสริมฟาร์มเลี้ยงปลานิลให้ได้มาตรฐาน GAP เพิ่มขึ้นแล้ว
ขณะที่สินค้าปลาเป็ดและปลาป่น ผลผลิตปลาเป็ดมีปริมาณ 40,113 ตัน ลดลงร้อยละ 9 และผลผลิตปลาป่น มีปริมาณ 381,358 ตัน ลดลงร้อยละ 20 ขณะที่การนำเข้าปลาป่นในช่วงเดือน ม.ค.- พ.ย.58 รวม 28,490 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 41 เนื่องจากเรือประมงอวนลากบางส่วนไม่สามารถออกทำการประมงได้ จากมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ส่งผลให้วัตถุดิบในการผลิตปลาป่นลดลง อีกทั้งมีแนวโน้มว่าผู้ผลิตอาหารสัตว์มีความต้องการใช้ปลาป่นที่มีคุณภาพสูงขึ้น
ดังนั้น ผู้ผลิตอาหารสัตว์อาจต้องปรับเปลี่ยนสูตรอาหารโดยใช้สินค้าโปรตีนอื่นทดแทนปลาป่น ส่วนผู้ประกอบการต้องปรับปรุงมาตรฐานการผลิตปลาป่นให้เป็นที่ยอมรับ และชาวประมงต้องดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับ เพื่อให้สัตว์น้ำที่จับได้มีคุณภาพดี
ส่วนสินค้าทูน่า มีการนำเข้าในปี 2558 จำนวน 701,970 ตัน มูลค่า 34,204 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกทูน่า มีปริมาณ 583,221 ตัน มูลค่า 70,126 ล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของทูน่าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถตรวจสอบได้ว่าวัตถุดิบนั้นมาจากการทำประมงโดยประเทศที่ไม่มีการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ด้านสินค้าหมึก มีผลผลิต 6,301.9 ตัน ส่วนการนำเข้ามีปริมาณ 185,818 ตัน มูลค่า 10,718 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ตั้งแต่ต้นปี 2558 ซึ่งรวมถึงหมึกสดแช่เย็นและปรุงแต่ง ตลอดจนปัญหา IUU Fishing ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกนั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับ EU เกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาประมง IUU แล้ว
ขณะที่สินค้าปลาดุกในเดือน ม.ค.59 มีผลผลิต 10,580 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ส่วนการส่งออกมีปริมาณ 882.2 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 68 มูลค่า 62.7 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการแปรรูปปลาดุกและเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมทั้งขยายตลาดเพิ่มขึ้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีการแปรรูปสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกร ผ่านศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนด้านประมง
ข่าวเด่น