ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ผลการเปิด-ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 – 25 มีนาคม 2559 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป ในระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และนิสิตนักศึกษา รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,159 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเปิด-ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาไทยในช่วงเกือบ 2 ปีการศึกษาที่ผ่านมา
คือ การเปิด-ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาไทยในปัจจุบันคือ ภาคเรียนที่ 1 เปิดเดือน สิงหาคม - ธันวาคม (จากเดิม เดือน มิถุนายน – ตุลาคม) ภาคเรียนที่ 2 เปิดเดือน มกราคม - พฤษภาคม (จากเดิม เดือน พฤศจิกายน – มีนาคม) และการเปิด-ปิด ภาคเรียนของโรงเรียนระดับประถมและมัธยมยังคงเป็นแบบเดิม คือ ภาคเรียนที่ 1 เริ่มประมาณเดือน พฤษภาคม – กันยายน ภาคเรียนที่ 2 เริ่มประมาณเดือน พฤศจิกายน – มีนาคม
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการเปิด-ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาไทยในช่วงเกือบ 2 ปีการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ประชาชน ร้อยละ 22.69 ระบุว่า มีความเหมาะสมมาก ร้อยละ 26.06 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเหมาะสม ร้อยละ 23.81 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเหมาะสม ร้อยละ 13.03 ระบุว่า ไม่มีความเหมาะสมเลย ร้อยละ 10.61 ระบุว่า ไม่รู้สึกอะไรเลย และร้อยละ 0.69 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีทั้งข้อดีและข้อเสียขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน
ต่อมาเมื่อถามถึงเหตุผลของประชาชนที่ระบุว่าการเปิด-ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาไทย มีความเหมาะสมมากและค่อนข้างมีความเหมาะสม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.10 ระบุว่า มีความเป็นสากล รองลงมา ร้อยละ 30.80 ระบุว่า เด็ก ม.6 มีเวลามากขึ้นเพื่ออ่านหนังสือสอบแอดมิชชั่น และเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย
ร้อยละ 19.65 ระบุว่า การแลกเปลี่ยนคณาจารย์หรือนักศึกษาระหว่างประเทศสามารถทำได้ง่าย ร้อยละ 15.22 ระบุว่า นักเรียนที่เพิ่งจบ ม.6 สามารถใช้ช่วงเวลารอยต่อก่อนเปิดภาคเรียนในการหารายได้หรือช่วยผู้ปกครองทำงาน ร้อยละ 12.04 ระบุว่า เอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการศึกษา กีฬาและวัฒนธรรม ร้อยละ 7.79 ระบุว่า เหมาะกับนิสิต-นักศึกษาที่ต้องการจะไปศึกษาต่อต่างประเทศ
ร้อยละ 3.72 ระบุว่า กิจกรรมรับน้องสามารถเสร็จสิ้นก่อนเปิดเทอมในเดือนสิงหาคม ร้อยละ 1.06 ระบุว่า การเหลื่อมล้ำของเวลาที่เปิด-ปิดไม่ตรงกับโรงเรียนประถมและมัธยมทำให้ปัญหาการจราจรลดลง ร้อยละ 0.88 ระบุว่า สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาฝนตกหนักน้ำท่วมในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ร้อยละ 0.53 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีเวลาว่างในระหว่างปิดภาคเรียนมากขึ้นและมีเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว และร้อยละ 3.89 ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
ขณะที่เหตุผลของประชาชนที่ระบุว่าการเปิด-ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาไทย ไม่ค่อยมีความเหมาะสมและไม่มีความเหมาะสมเลย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.86 ระบุว่า การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศร้อนสุด (เมษายนและพฤษภาคม) รองลงมา ร้อยละ 29.51 ระบุว่า มีวันหยุดมากทำให้การเรียนการสอนขาดความต่อเนื่อง ร้อยละ 13.82 ระบุว่า การเรียนการสอนอยู่ในช่วงฤดูท่องเที่ยวของคนไทย (มีนาคมและเมษายน)
ร้อยละ 13.35 ระบุว่า สิ้นเปลืองพลังงานเนื่องจากต้องเปิดเครื่องปรับอากาศในชั้นเรียนในช่วงที่อากาศร้อนสุด ร้อยละ 11.24 ระบุว่า เกิดความไม่ต่อเนื่องระหว่างอุดมศึกษากับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากการเปิด-ปิดภาคเรียนไม่สอดรับกัน ร้อยละ 9.60 ระบุว่า มีการเรียนการสอนในช่วงที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดพายุและน้ำท่วม (กันยายนและตุลาคม) และระยะเวลารอยต่อก่อนเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษาที่มากขึ้นนั้น เด็กอาจจะใช้เวลาว่างเปล่าอย่างไร้ประโยชน์ ในสัดส่วนที่เท่ากัน
ร้อยละ 5.62 ระบุว่า เกิดปัญหาการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว (เช่นท่องเที่ยว) ในกรณีที่ครอบครัวที่มีบุตรหลานเรียนอยู่ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับประถมหรือมัธยม ร้อยละ 2.58 ระบุว่า ไม่ได้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยในอาเซียนเพราะแต่ละประเทศในอาเซียนมีช่วงเวลาปิดเปิดเทอมที่หลากหลาย ร้อยละ 6.09 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ในช่วงเวลาที่ปิดเทอมนานเกินไปมีผลกับผู้ที่เรียนระดับอุดมศึกษาในคณะศึกษาศาสตร์ เพราะช่วงฝึกสอนหรือทำกิจกรรมที่โรงเรียน การเปิดปิดเทอมไม่ตรงกับโรงเรียนประถม มัธยม ทำให้จบการศึกษาช้า อีกทั้งปิดเทอมนานผู้ปกครองไม่สามารถดูลูกหลานที่อยู่ที่บ้านได้ดี และไม่เหมาะสมกับประเทศไทยจึง ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตามประเทศเพื่อนบ้านที่ภูมิประเทศและการดำเนินชีวิตต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน และร้อยละ 0.94 ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนว่ากระทรวงศึกษาธิการควรยกเลิก การเปิด-ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.71 ระบุว่า ไม่ควรยกเลิก รองลงมา ร้อยละ 34.68 ระบุว่า ควรยกเลิกและกลับไปใช้ระบบเดิม ร้อยละ 25.30 ระบุว่า ยังไงก็ได้ ร้อยละ 0.20 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ อยากเปลี่ยนเป็นระบบใหม่เลยหรือเอามาผสมผสานกัน 50/50 และร้อยละ 1.11 ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
ข่าวเด่น